‘ชราบาลวุฒิวิทยาลัย’ สร้างสังคมผู้สูงอายุคุณภาพ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


'ชราบาลวุฒิวิทยาลัย' สร้างสังคมผู้สูงอายุคุณภาพ thaihealth


"แต่ก่อนเป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งนั่งร้องไห้ไปคุยกับไก่บ้างก็มี เขาว่าเราบ้ากันทั้งนั้น คือตอนนั้นมันเครียด เหงา เราออกจากงานมาทำงาน เคยทำงานในครัวของโรงแรมในเชียงใหม่ ประกันสังคมก็ไม่ได้ส่ง เกษียณออกมาก็ไม่มีเงิน ลูกมี 2 คนเขาไปมีครอบครัวกันหมด สามีเลิกกันตอนอายุ 52 บ้านที่อยู่ก็อยู่ในที่ดินของน้องชาย" จันทร์เพ็ญ บุญยศยิ่ง วัย 69 ปี ชาวบ้านต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ย้อนเล่าเรื่องราวเศร้าของเธอในวันที่มีรอยยิ้มในวันนี้


คุณยายจันทร์เพ็ญ บอกว่า เธอก้าวข้ามโรคซึมเศร้าได้เมื่อกลุ่ม อสม. ชักชวนเธอมายังโรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัยหรือ โรงเรียนผู้สูงอายุ ที่มีอยู่ในหลายพื้นที่เวลานี้ กิจกรรมร้องเพลง ฟังพระเทศน์ สานตะกร้า รำไม้พลอง  ใครมีพืชผักผลไม้ในสวนจากบ้านมาขายกันในกลุ่มของโรงเรียนที่มี นร.ร่วม 400 คน แต่ละคนเป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยน สารทุกข์สุขดิบ มาทำอะไรสนุก ๆ แล้วมีความสุข โรคซึมเศร้าของป้าจันทร์เพ็ญบอกลาชีวิตป้าไปนานถึง 6 ปีแล้ว แม้จะมีรายได้จากเบี้ยยังชีพ และเงินเดือน อสม. เฉลี่ยแล้วพัน เศษ ๆ เท่านั้น


นายเฉลิม สารแปง นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย เล่าว่า โรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย เกิดขึ้นจากการริเริ่มของเทศบาลตำบลเชิงดอย เพื่อตอบโจทย์เกี่ยวกับสุขภาพผู้สูงอายุ ในการเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในช่วงเริ่มต้นต้องการให้ผู้สูงอายุมีรายได้ แต่ปรากฏว่าผู้สูงอายุบอกว่ารายได้ไม่ใช่สิ่งสำคัญ อาชีพทำเป็นมาตั้งแต่เด็ก จึงเป็นที่มาแนวคิดให้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข เน้นสันทนาการ จนทำให้ผู้สูงอายุหายจากโรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งโรงเรียนมีผู้สูงอายุมาเรียน 100 คน ปัจจุบันมีถึง 400 คน มีผู้สูงอายุ ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และโรคอัลไซเมอร์หายจากอาการของโรคประมาณ 4-5 คน


"มีวิชาคาราโอเกะ การออกกำลังกายเต้นตามจังหวัดเพลง การแข่งหัวเราะ การแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุ พอผู้สูงอายุมาอยู่รวมกันเขามีความกล้าที่จะทำกิจกรรม"


'ชราบาลวุฒิวิทยาลัย' สร้างสังคมผู้สูงอายุคุณภาพ thaihealth


คุณยายศรีวรรณ เครื่องนันตา วัย 82 ปี นร.โรงเรียนผู้สูงอายุ เล่าว่า มาโรงเรียนแล้วรู้สึกเบิกบานคลายเครียด ชอบรำวง เป็นคนชอบออกกำลังกายมาตั้งแต่สาว ๆ โรคประจำตัวไม่มี มีแต่ปัญหาเรื่องเข่า ทุกวันพุธลูกจะขับรถมาส่งเพราะบ้านอยู่ห่างจากเทศบาลไป 40 กม. อยู่บ้านก็ทำดอกไม้จันทน์เดือนหนึ่งมีรายได้ประมาณพันบาท


ปัจจุบันโรงเรียนชราบาลเป็นต้นแบบของการโรงเรียนผู้สูงอายุซึ่งก่อนหน้านั้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณและยกย่องจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้เทศบาลได้จัดสรรงบประมาณสมทบกับงบรายหัวในการป้องกันสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) ปีละประมาณ 8 แสนบาท ในการจัดกิจกรรม ในทุกวันพุธจะเปิดโรงเรียน โดยเทศบาลจะจัดรถไปรับส่งผู้สูงอายุจากบ้านให้มารวมตัวที่หอประชุมของเทศบาลพร้อมสนับสนุนอาหารกลางวัน


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ระบบสังคมที่จะรองรับผู้สูงอายุจะต้องมีกลไกที่ไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้า  เทศบาลตำบลเชิงดอยเป็นท้องถิ่นตัวอย่างของการพัฒนา รูปแบบที่เห็นคือการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ คือการทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างน้อยทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนโรงเรียนผู้สูงอายุต่อไปจะเชิญชวนให้ชุมชน โดยเฉพาะวัด หรือพระมาร่วมด้วย ให้เป็นสถานที่รวมตัว การจัดกิจกรรมทางใจ ฟังเทศน์ฟังธรรม นอกจากนี้ วัดยังมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง มีตัวอย่างของวัดธรรมประมงใช้วัดเป็นสถานที่ฟื้นฟูดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นลักษณะของสังคมบำบัด ซึ่งท้ายที่สุดชุมชนจะต้องมาร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน


ทั้งนี้การดูแลผู้สูงอายุเป็นนโยบายสำคัญของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมุ่งให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดูแล โดยในปี 2561จัดสรรงบประมาณดูแลผู้สูงอายุ 1,200 ล้านบาทต่อปี ขณะนี้มี อปท.เข้าร่วม 4,000 และภายใน 5 ปี จะครอบคลุม อปท. ทั้งหมด เพื่อจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code