‘ชนเผ่ามลาบรี’ สร้างสุขภาวะชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
'มลาบรี' ชนเผ่าพื้นเมืองกับโครงการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนยั่งยืน
ประเทศไทยมีประชากรที่นิยามตนเองว่าเป็นคนชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน 42 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีประชากรรวมจำนวนคิดเป็น 6% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยประชากรที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองนี้ ได้มีการกระจายตัวของชุมชนอยู่ใน 67 จังหวัด ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย สืบเนื่องจากชุมชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงประสบปัญหาหลักหลายประการ เช่น ขาดความมั่นคงในถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน การผูกโยงกับระบบเศรษฐกิจ การตลาดมากกว่าการพึ่งตนเอง การเสื่อมถอยระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่กำลังถูกกลืน การศึกษาที่ไม่สอดคล้อง กับวิถีชุมชนเป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาวะหลายประการ อาทิ สถาบันครอบครัวแตกสลาย เยาวชนคนวัยทำงานอพยพเข้าสู่เมือง
นายศักดิ์ดา แสนมี่ ผอ.ศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขา ในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) กล่าวว่า มลาบรี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็กอาศัยอยู่ในประเทศไทยมายาวนานในป่าแถบจังหวัดน่านและแพร่ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ภายหลังเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกด้วยการนำของป่ามาแลกอาหารหรือทำงานอยู่ในไร่เพื่อแลกอาหารและเสื้อผ้า กับชนเผ่าม้งและคนพื้นเมืองแต่เมื่อข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรอาหารในปี 2540 มลาบรีกลุ่มหนึ่งได้มาตั้งชุมชนที่บ้านห้วยหยวก ประกอบกับขณะนั้นศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดน่านได้ชักชวนให้ชนเผ่ามลาบรี ออกจากป่ามาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนมีการสร้างบ้านให้อยู่อาศัยอีกด้วย
"ปัจจุบันมลาบรีบ้านห้วยอยู่ มีจำนวน 32 หลังคาเรือนประชากร 182 คน มีที่ดินสำหรับทำกินแต่ละปีจะหมุนเวียนกันให้แต่ละครอบครัวทำกินในแปลงดังกล่าว แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ชุมชนไม่สามารถปรับตัวได้จึงเกิดปัญหาด้านสุขภาวะ เพราะวิถีดั้งเดิมมลาบรีจะไม่เพาะปลูก จึงขาดความรู้ในเรื่องกสิกรรมเมื่อต้องมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ถาวรก็เลียนแบบวิธีเพาะปลูกจากชุมชนรอบข้างอย่างไม่มีการวิเคราะห์ มีการใช้สารเคมีโดยไม่รู้วิธีป้องกันจึงเกิดปัญหาสุขภาพ และยังต้องเผชิญภาระหนี้สินจนกลายเป็นแรงงานรายปีให้ชุมชนใกล้เคียงซ้ำวิถีชีวิตที่รีบเร่งทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลและจัดหาอาหารให้สมาชิกในครอบครัวรวมถึง มีข้อจำกัดในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรอาหารในป่าชุมชน ต้องพึ่งพาอาหารจากพ่อค้าเร่ที่มาขายในหมู่บ้านเป็นหลัก เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปลากระป๋อง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันนั้น เนื่องจากรายได้ต่ำจึงไม่สามารถจัดอาหารที่เพียงพอและมีประโยชน์ให้กับครอบครัวได้ส่งผลให้สุขภาพอนามัยต่ำกว่าเกณฑ์" นายศักดิ์ดา กล่าวน.ส.อรัญวา ชาวพนาไพร ผู้นำมลาบรี เล่าว่า เดิมเราไม่เคยเพาะปลูกมาก่อนเลย ใช้เงินที่ได้จากการรับจ้างมาซื้อของ หลังจาก
นั้นก็มีอาจารย์จากภายนอกเข้ามาสอนให้ความรู้เรื่องปุ๋ย ให้พันธุ์พืชที่เราชอบกิน โดยในแต่ละบ้านก็มีการปลูกที่แตกต่างกันออกไป เช่น พริก คะน้าผักบุ้ง มะเขือ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน ทั้งยังเป็นการประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน ชุมชนมลาบรีสนใจที่จะเรียนรู้การปลูกผัก เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทานทุกวัน ถ้าเราปลูกเองจะรู้ว่าผักปลอดภัย และช่วยเสริมในเรื่องของสุขภาพ ในอนาคตอยากให้ชาวมลาบรีพึ่งพาตัวเองได้ พัฒนาในรุ่นต่อไป นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงปลากระชัง เลี้ยงไก่ แต่จะทำอย่างไรให้มีทานไปตลอด มีการแบ่งปันให้ทุกคนในชุมชนรู้สึกถึงความเท่าเทียมกัน
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้นำชุมชนพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ริเริ่มให้บางครอบครัวเลี้ยงหมูดำ บางครอบครัวก็ขอเมล็ดพันธุ์จากหมู่บ้านม้ง นำมาปลูกในสวนหลังบ้าน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ปศุสัตว์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ได้จัดฝึกอบรมการเลี้ยงไก่ไข่ มาแล้ว 1 รุ่น แต่ไม่มีงบในการดำเนินการเลี้ยงไก่ต่อ ทางผู้นำชุมชนจึงได้ทำประชาคมและพัฒนาโครงการเสริมทักษะชีวิต ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ร่วมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทย ภูเขาในประเทศไทยโดยได้รับสนับสนุนจาก สสส.