‘ฉี่หนู’คุกคามชาวไร่-ชาวนา สธ.ชี้’ปลายฝนต้นหนาว’หนัก
กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคฉี่หนูระบาด แนะเก็บผลผลิตทางการเกษตรไม่ควรเดินเท้าเปล่า หรือย่ำน้ำแฉะ หากป่วยให้สังเกตอาการ และไปพบแพทย์ทันที
นพ.โอภาส การย์วินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก เริ่มนิ่ง ไม่มีอะไรน่ากังวล ส่วนการระบาดของโรคไข้เลือดออกก็พบว่า ลดลงแล้วเช่นกัน แต่ที่น่ากังวลคือ ช่วง เวลานี้ซึ่งอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาวประชาชนทั่วประเทศยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส (leptospirosis) โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ที่ต้องเก็บเกี่ยวข้าว หรือผลผลิตทางการเกษตรและต้องเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำแฉะๆ หรือแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานานอาจเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนูมากที่สุด
“โรคนี้ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน เชื้อจะออกมากับฉี่สัตว์ เช่น หนู วัว ควาย แพะ แกะ และสุนัข แล้วปนเปื้อนในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอย่าลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงติดโรคได้” นพ.โอภาสกล่าว และว่า สำหรับอาการของโรคนั้น จะพบหลังได้รับเชื้อ 2-10 วัน โดยจะเริ่มมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ต่อมาอาจมีเยื่อบุตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดิน หากมีอาการเหล่านี้หลังจากไปแช่น้ำย่ำโคลนมา 2-26 วัน ควรนึกถึงโรคนี้ และไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้
นพ.โอภาสกล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรค โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 สิงหาคม 2555 พบ ผู้ป่วย 2,047 ราย จาก 71 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 3.22 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 29 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.05 ต่อแสนประชากร สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 1:0.28 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด โดยอาชีพที่ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 58.2 รับจ้างร้อยละ 19.4 นักเรียน ร้อยละ 10.7 ทั้งนี้ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จ.ระนอง คิดเป็น 119.39 ต่อแสนประชากร จ.พังงา 13.91 ต่อแสนประชากร จ.สุรินทร์ 12.48 ต่อแสนประชากร จ.ศรีสะเกษ 11.68 ต่อแสนประชากร จ.พัทลุง คิดเป็น 11.62 ต่อแสนประชากร สำหรับจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยคือ สมุทรสงคราม นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี อ่างทอง ปราจีนบุรี ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 6.75 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.28 ต่อแสนประชากร ภาคเหนือ 2.11 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 0.32 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลเฝ้าระวังโรคโรคมือ เท้า ปาก พบว่าตั้งวันที่ 1 มกราคม -19 สิงหาคม 2555 พบผู้ป่วย 27,676 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 43.57 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 2 ราย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน