ฉีด‘เฟรซเซลล์’อันตรายถึงชีวิต
แพทย์ไม่ยอมรับเฟรชเซลล์ ชี้อันตรายถึงชีวิต ด้านแพทยสภา ยันไม่ได้ขัดขวางการเป็นฮับทางการแพทย์ แค่ปกป้องประชาชน ย้ำไม่มีการเปิดสาขาผู้เชี่ยวชาญในไทย ใครดำเนินการอยู่ ผิดเต็มประตู แม้แค่ตรวจร่างกาย
นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิด และเซลล์บำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “เตือนภัยการใช้เฟรชเซลล์” ว่า ยืนยันว่าขณะนี้เฟรชเซลล์ยังเป็นการรักษาที่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะไม่มีเอกสาทางด้านวิชาการจากแหล่งที่น่าเชื่อถือมายืนยันประสิทธิภาพ มีเพียงเอกสารที่ยืนยันว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตั้งแต่ก่อให้เกิดการแพ้ สมองอักเสบ และเสียชีวิต อย่างไรก็ตามเท่าที่ได้อ่านเอกสารที่ทางสมาคมเซลล์บำบัดไทยส่งมาชี้แจงแล้วตนยังยืนยันตามที่เคยให้ข่าวมาตลอด
นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้แพทยสภายังไม่ได้เปิดสาขาผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคด้วยเฟรชเซลล์ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ดำเนินการรักษาด้วยเฟรชเซลล์อยู่ในขณะนี้ถือว่าดำเนินการผิดมาตรฐานการรักษาแน่นอน
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่าแพทยสภาไปขัดขวางการเจริญเติบโตของการเป็นเมดิคัลฮับของประเทศ ขัดขวางการพัฒนาในวงการแพทย์ ขอยืนยันว่าไม่เป็นเรื่องจริง แพทยสภามีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งการรักษาด้วยเฟรชเซลล์เป็นศาสตร์การแพทย์โบราณที่มีบริบทแตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง และยังไม่มีเอกสารวิชาการยอมรับว่ารักษาโรคได้จริง ดังนั้นผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมเรื่องการอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรค มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา 44 เรื่องการโฆษณา มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวอีกว่า แม้ผู้ปฏิบัติวิชาชีพจะอ้างว่าไม่ได้ทำการฉีดเฟรชเซลล์ในประเทศไทย แต่ให้การตรวจร่างกายผู้ป่วยก่อนส่งต่อไปรักษาที่ประเทศเยอรมนี ก็ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระบวนการรักษาต้องมีความผิดด้วยเช่นกัน แพทย์ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่ได้เป็นผู้ให้การรักษาโดยเฉพาะกรณีที่สืบทราบว่าได้รับผลประโยชน์เนื่องจากการปฏิบัติงานของแพทย์ด้วยนั้น แต่การจะเอาผิดทางอาญาได้นั้นผู้เสียหายต้องฟ้องร้องต่อศาลเอง ส่วนแพทย์สภาสามารถเอาผิดทางด้านจริยธรรมได้อย่างเดียว ซึ่งมีตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือน พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการจริยธรรมเพื่อชี้ขาดว่าแพทย์ผิดจริงหรือไม่
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริหารสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า เบื้องต้นสถานพยาบาลที่ดำเนินการเรื่องนี้จะมีความผิด 4 ข้อหาคือ 1. ผู้ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพดำเนินการในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าตามมาตรฐานทางการแพทย์ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 34(2) ของพ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. แพทย์ที่กระทำการในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานทางการแพทย์ถือว่าผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ 3. เฟรชเซลล์เป็นยาแต่ยังไม่พบมีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย จึงมีความผิดตามพ.ร.บ.ยา และ 4. ผิดฐานโฆษณาในสิ่งที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางด้านการแพทย์ อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังและตรวจสอบเรื่องนี้ในพื้นที่ของตัวเองอย่างเข้มงวด
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต