ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าฟรี
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
แฟ้มภาพ
กทม.เดินสายฉีด "วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า" ฟรี 5-16 ก.ย.นี้ พบ 40 % สัตว์ติดเชื้อเป็น "หมาเลี้ยง" แนะคนถูกกัดรีบล้างแผลพบแพทย์ทันที
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักอนามัยร่วมกับสำนักงานเขต 50 แห่งจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง โดยจัดหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงฟรีวันละ 50 หน่วยในทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งในแต่ละเขตจะหมุนเวียนสถานที่ตั้งหน่วยไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยง ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างต่อเนื่องและใกล้บ้าน เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคสัตว์สู่คนที่ร้ายแรง คนหรือสัตว์ที่เป็นโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้กับสัตว์เลี้ยงเป็นประจำทุกปี
น.พ.ชวินทร์ กล่าวต่อว่า หากผู้ใดถูกสุนัข แมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ ลิง หนู กระต่าย กัดหรือข่วน ขอให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนทันที ซึ่งผ่านมาสำนักอนามัยได้จัดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเข้มงวดปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมี.ค.และก.ย.มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 ทำให้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯมีแนวโน้มดีขึ้น โดยสถิติในกรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึง 15 ส.ค.2559 พบสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 11 ตัว โดยส่วนมากเป็นสุนัข แต่ไม่มีรายงานคนกรุงเทพฯเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ามาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว
“สำนักอนามัย จึงขอเชิญชวนประชาชนนำสัตว์เลี้ยงสุนัขหรือแมวอายุ3เดือนขึ้นไปนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่หน่วยบริการฉีดวัคซีนฯเคลื่อนที่ใกล้บ้านท่าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5–16 ก.ย.นี้” นพ.ชวินทร์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับประชากรสุนัขที่มีเจ้าของหรือสุนัขบ้านประมาณ 6 แสนตัว ส่วนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขจรจัดประมาณ 1 แสนตัว ซึ่งสาเหตุของการเกิดสุนัขจรจัดส่วนใหญ่ เกิดจากผู้เลี้ยงนำมาปล่อยตามสถานที่สาธารณะเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูต่อได้ แม้ว่าในกรุงเทพฯจะไม่มีรายงานประชาชนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเวลากว่า 5 ปี โดยในปี 2558 พบสุนัขที่ติดเชื้อเพียง 5 ตัว แต่กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของสุนัขที่ติดเชื้อจะเป็นสุนัขเลี้ยง เนื่องจากผู้เลี้ยงไม่มีความรู้เพียงพอ และไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เหมาะสม
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปี นอกจากฉีดวัคซีนแก่สัตว์แล้ว ควรลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนทำร้าย ตั้งแต่การอย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และอย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
“กรณีหากถูกสุนัขบ้านหรือถูกสุนัขจรจัด แมว หรือสัตว์อื่นๆ กัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ อาทิ เบตาดีน เพื่อช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เร็วที่สุด เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบตามที่แพทย์แนะนำ หรือหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า มีอาการ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนให้ช่วยกันจับโดยระมัดระวังอย่าให้ถูกกัด แล้วกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป”รายงานข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันที่ 28 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก(World Rabies Day) จัดขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ.2007 โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) และองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) โดยถูกกำหนดให้จัดตรงกับวันที่ 28 ก.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของหลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อฉีดให้คนที่ถูกสุนัขบ้ากัดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย จากโรคพิษสุนัขบ้า และร่วมมือร่วมใจป้องกันโรคนี้ด้วยการให้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง โดยองค์การอนามัยโลกและองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ตั้งเป้าหมายว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะหมดไปจากโลกในปี 2563 หรือค.ศ.2020 จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ทั่วโลก เร่งรัดการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากทุกประเทศทั่วโลก