ฉีดฟิลเลอร์จมูกโด่ง เตือนระวังตาบอดถาวร

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยรายงานล่าสุดว่า มีผู้ป่วยไปรับบริการฉีดสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ เพื่อเสริมจมูกแล้วเกิดอาการตามองไม่เห็นเฉียบพลัน และแขนขาอ่อนแรง

ทั้งนี้สารเติมเต็มมีหลายชนิดแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. แบบชั่วคราว มีอายุใช้งาน 4-6 เดือน แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ 2. แบบกึ่งถาวร มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี มีความปลอดภัยปานกลาง และ 3. แบบถาวร เช่น ซิลิโคน หรือพาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป ไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว

ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา แพทยสภามีประกาศห้ามใช้ฟิล เลอร์ชนิดถาวรอย่างเด็ดขาดไปแล้ว การใช้ฟิลเลอร์สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณใช้หลักการคือ ผิวหนัง ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ ใยคอลลาเจน และ สารไฮยาลูโรนิก มีหน้าที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง เมื่อเข้าสู่วัยชรา พบว่าใยคอลลาเจน และสารอุ้มน้ำจะค่อยๆ ลดน้อยลง ผิวหนังจะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น

ฟิลเลอร์ จึงถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เพื่อแก้ไขปัญหาริ้วรอย โดยการฉีดฟิลเลอร์เติมเต็มใยคอลลาเจนที่หายไป ทำให้ริ้วรอยบริเวณดังกล่าวตื้นขึ้น สภาพผิวดูดีขึ้น การแก้ไขปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เป็นต้น รวมทั้งนำมาฉีดเพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนเต็มขึ้นกว่าเดิม เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ริมฝีปาก หรือฉีดเพื่อทำให้รูปทรงของหน้าดูอวบอิ่มกว่าเดิม

สำหรับผลข้างเคียงที่ทำให้ตาบอดหรือแขนขาอ่อนแรง เกิดจากการที่ฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือดที่ต่อเนื่องไปเลี้ยงลูกตา อาจพลาดไปโดนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณดวงตา ทำให้เกิดอาการเส้นเลือดตีบตันจนตาบอดถาวรได้

โดยการฉีดเสริมจมูกด้วยฟิลเลอร์ เป็นที่นิยมเพราะเห็นว่าทำง่าย ทั้งที่เสี่ยงอันตรายเพราะบริเวณจมูกมีแขนงหลอดเลือดจำนวนมาก ที่เชื่อมต่อกับระบบหลอดเลือดของประสาทตาและสมองโดยตรง จึงขอให้หลีกเลี่ยงการเสริมจมูกด้วยวิธีนี้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าความเสี่ยงตาบอด เพื่อแลกกับการทำให้จมูกโด่งเพียงชั่วคราว แม้แต่ฟิลเลอร์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองก็อาจเกิดตาบอดได้เช่นกัน พล.ต.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนัง ขอความร่วมมือกับแพทย์และผู้ที่อยากเสริมจมูก ควรทำด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยมากกว่าการฉีดฟิลเลอร์

สำหรับอันตราย เกิดได้จาก 3 ปัจจัย คือ 1. ตัวผู้ทำการฉีดต้องมีความรู้ ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น 2. สารที่ใช้แม้ผ่านการรับรองจาก อย. ก็เกิดผลข้างเคียงได้ และ 3. ตัวผู้รับการฉีดเอง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code