ฉลากโภชนาการ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ สร้างพลังเศรษฐกิจสู่ Thailand4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
Thailand 4.0 กับฉลากโภชนาการ ถือเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Bio Economy 4.0) เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและขยายศักยภาพการแข่งขันและเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของรัฐบาลตามนโยบาย Thailand 4.0 ในเรื่องของโภชนาการและบทบาทการพัฒนาอาหารพรีเมียม พร้อมทำความเข้าใจกับฉลากยุค 4.0 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงผู้บริโภคให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการ สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ "ฉลากโภชนาการ 1.0 สู่ Thailand 4.0" จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสมาคมนิสิตเก่าคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สวก.) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และว่า
การผลิตสินค้าทางการเกษตรและอาหารแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในปัจจุบัน มีการพัฒนาและจำแนกออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.สินค้าสด 2.อาหารที่มีลักษณะพิเศษ เช่น อาหารทางการแพทย์ อาหารเฉพาะบุคคลที่ต้องการบริโภคเป็นพิเศษ และ 3.อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะต้องมีข้อมูลทางวิชาการและโภชนาการ รวมถึงมีการศึกษาวิจัยและได้รับการรับรองคุณภาพ
ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีการแบ่งเกรดและเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายของ อย.ว่าด้วยเรื่องของอาหารพรีเมียม (อาหารทุกชนิด) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับ 365) พ.ศ.2556 ในเรื่องของการแสดงข้อความที่แสดงคุณภาพหรือมาตรฐาน หรือคุณลักษณะเด่นเป็นพิเศษกว่าอาหารในชนิดหรือประเภทเดียวกัน
ดังนั้น ฉลากโภชนาการแนวใหม่จะเป็นมิตรกับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งแนวโน้มด้านการตลาดและสังคมนั้นจะทำให้ ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคจะมองหาสิ่งใหม่ๆ มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของอาหาร ความสะดวกรวดเร็ว เช่น อาหารแช่แข็ง และอาหารพร้อมทานมากขึ้น ทำให้เกิดระบบการขับเคลื่อนที่เรียกว่า Healthy Diet สู่ Healthy People อย.จึงส่งเสริมและผลักดันการกำหนดเกณฑ์สารอาหาร หรือคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยใช้สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพเป็นสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายที่เน้นการลดหวาน มัน เค็ม เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์นี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารได้อย่างเหมาะสม
ด้าน ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ปัจจุบันมีการนำรูปแบบของสัญลักษณ์โภชนาการมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั้งอาเซียน ยุโรป และอเมริกา อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฟินแลนด์ สโลเวเนีย กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย สหรัฐ อเมริกา เม็กซิโก ชิลี แคนาดา อาร์เจนตินา เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 373) พ.ศ.2559 เรื่องการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" (Healthier Choice) ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 จนถึงปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งหมด 254 ผลิตภัณฑ์ จาก 55 บริษัท ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยกลุ่มเครื่องดื่ม 197 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องปรุงรส 9 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 3 ผลิตภัณฑ์ (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) กลุ่มผลิตภัณฑ์นม 42 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มขนมขบเคี้ยว 3 ผลิตภัณฑ์
สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ที่ดำเนินการนี้มุ่งหวังใช้เป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยทำให้คนไทยตระหนักถึงการเลือกบริโภคอาหารที่หวาน มัน เค็ม ลดลง เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายขอบเขตกลุ่มอาหารในวงกว้างต่อไป
ขณะที่ ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้านและบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง การบริโภคผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป รวมไปถึงการไม่ออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ล่าสุดพบว่ากลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 314,340 ราย หรือร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งฉลากโภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสมเมื่อเทียบ อาหารในกลุ่มเดียวกัน ที่มีเพิ่มขึ้นในท้องตลาด ย่อมเป็นทางเลือกทำให้ผู้บริโภคทั่วไปได้มีโอกาสเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีมาตรฐาน
สำหรับผู้ประกอบการรายใดที่มีความประสงค์จะติดต่อขอใช้สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ส่งใบสมัครขอรับการรับรองได้ที่มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ดาวน์โหลดใบสมัคร และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://healthierlogo.com หรือ www.ทางเลือกสุขภาพ.com