ฉลองปีใหม่ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์
เมื่อสถานการณ์ “ดื่มแล้วขับ” ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ ปัญหาดังกล่าวนับว่า เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ระบุว่า จากสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 2,997ครั้ง เสียชีวิต 341 คน บาดเจ็บ 3,117 คน โดยวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต และบาดเจ็บสูงสุด สาเหตุหลักคือ เมาแล้วขับ 37.3% ทั้งที่หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มารณรงค์เรื่องอันตรายจากการเมาแล้วขับ จากการทำงานพบว่า การตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ในหลายพื้นที่มีเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์มีไม่เพียงพอต่อหน่วยการตั้งด่าน ภาคประชาชนติดตามเรื่องอุปกรณ์นี้มาหลายปี พบว่า ติดปัญหาที่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งปีใหม่ปีนี้ก็ยังไม่มีอุปกรณ์ใหม่มาให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้ ดังนั้น จึงต้องพึ่งเครื่องมือเก่าที่ใช้กันอยู่ต่อไปสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายมีชัดเจนแต่ขั้นตอนการปฏิบัติยังมีจุดอ่อน หวังว่าฝ่ายนโยบายจะลงมาตรวจสอบและแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งภาคประชาชนสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเปลี่ยนฐานคิด ว่า “ดื่มแล้วขับเป็นโทษที่รอลงอาญา” ต้องแก้ไขเป็น “การเจตนาที่เล็งเห็นผลว่าจะเกิดปัญหาตามมาจึงต้องจำคุกสถานเดียว”
ที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้ที่เมาแล้วขับยังดูเหมือนเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้ประชาชนมิได้หวั่นเกรงบทลงโทษของกฎหมาย โดยเฉพาะกับผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทางสังคม เรื่องนี้ นายธีระ ให้ข้อคิดว่า ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับแล้ว จะต้องมีการพิจารณาตัดสิน ต้องมุ่งไปเรื่องของเจตนาของผู้ที่เมาแล้วขับ กระบวนการตัดสินไม่ควรจะต้องรอลงอาญา หรือควบคุมความประพฤติ แต่ควรจะมองว่าผู้ที่เมาแล้วขับ คือ ผู้ที่ต้องการจะละเมิดกฎหมายและจะต้องมีการลงโทษให้เข็ดหลาบ โดยเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดมาหลายครั้ง กระบวนการยุติธรรมจะต้องเปลี่ยนให้ผู้ที่เมาแล้วขับ ต้องได้รับการลงโทษไม่ว่าจะเป็นจำคุก โดยไม่ต้องรอลงอาญา หรือการยึดใบอนุญาตขับขี่รถ ซึ่งตนเชื่อว่าหากมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด จะส่งผลให้อุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับลดลง เราจะดูตัวอย่างได้จากประเทศญี่ปุ่น ที่กฎหมายจะมีบทลงโทษผู้ที่เมาแล้งขับอย่างชัดเจนเป็นผลให้อุบัติเหตุมีจำนวนลดลง
นายธีระ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการรณรงค์ลดโอกาสการดื่มสุราในช่วงปีใหม่ ได้มีการณรงค์ให้คืนวันที่ 31 เปลี่ยนจากดื่มฉลองข้ามปี เป็นสวดมนต์ข้ามปีและเช้าของวันที่ 1 ซึ่งเป็นวันปีใหม่ ร่วมกันทำบุญใส่บาตรอย่างเป็นมงคลแก่ชีวิต ทั้งนี้กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ถือว่าเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ ที่ครอบครัวตอบรับ และวัยรุ่นหนุ่มสาวก็สนใจเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการณรงค์เรื่องของกระเช้าปลอดเหล้า ซึ่งได้มีการตอบรับจากทุกภาคส่วนอย่างดีมาก
แต่ถ้าใครอยากจะฉลองแบบเคาท์ดาวน์ ก็มีสถานที่ที่ปลอดภัยจัดเป็นพื้นที่โซนนิ่งปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย เครือข่ายงดเหล้า และ สสส. ร่วมสนับสนุนการจัดงานเคาท์ดาวน์ปลอดเหล้า 2 แห่ง คือ Chiangmai Countdown Festival 2016 ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ และ งาน Night Paradise Hatyai& Countdown 2016 โดยสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ซึ่งสนับสนุนต่อเนื่องมา 5 ปี พบว่า เมื่อมีการควบคุมสถานที่จัดงานให้ปลอดจากการขาย ดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ลดปัญหาการทะเลาะวิวาท และการเกิดอุบัติเหตุได้ ผู้ที่มาร่วมงานมีความปลอดภัย ดังนั้น หากท่านต้องการไปฉลองแบบเคาท์ดาวน์ก็ขอให้เช็คสถานที่ด้วยว่ามีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน
“เราควรส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น การจัดปาร์ตี้สนุกได้ไร้แอลกอฮอล์ ในต่างประเทศเดี๋ยวนี้เขามีการจัดงาน White Christmas หรือคริสต์มาสสีขาว เป็นการจัดงานปาร์ตี้ของครอบครัวแบบไม่มีแอลกอฮอล์”
ที่กังวลคือ บรรดาสถานบันเทิง หรือพื้นที่จัดงานเทศกาล รวมทั้งร้านค้าปลีก ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่จำหน่ายสุราให้กับเด็กและเยาวชน อายุไม่ถึง 20 ปี ต้องมีใบอนุญาตในการจำหน่ายสุราจากสรรพสามิต และพื้นที่จัดงานอีเวนท์ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่มีโฆษณาแฝง หรือจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม นายธีระ กล่าวว่า จากอีกปัญหาหนึ่งที่เรามองเข้าไปคือ เมื่อผู้ขับขี่ที่เป็นเด็กหรือเยาวชนเมาแล้วขับ ทางเจ้าหน้าที่ไม่เคยถามหรือสืบสวนว่าเด็กเยาวชนเหล่านี้ไปซื้อสุรามาจากร้านไหน และต้องลงโทษร้านที่ขายสุราให้กับเด็กเยาวชนด้วย
นายธีระ ฝากทิ้งท้ายว่า สำหรับปีใหม่ที่จะถึงนี้จะเป็นปีที่เปิดอาเซียนด้วย เราจะต้องต้อนรับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ด้วยการสวดมนต์ข้ามปี เนื่องด้วยวันที่ 31 ธันวาคมจะเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด การสวดมนต์ข้ามปีจึงเป็นการใช้สติ ที่ปลอดภัยต่อตนเอง ครอบครัว และองค์กร
ด้าน นายธีรภัทร์ กุลพิศาล (เบิร์ท) ผู้พิการที่มีสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับในวันขึ้นปีใหม่ เล่าให้ฟังว่า ย้อนไป 13 ปีก่อนหน้านี้ ในวัย 16 ปี ที่มีความคึกคะนอง กล้าไม่กลัวใคร ในวันปีใหม่ตนกับเพื่อนๆ ได้ไปเที่ยวกัน มีการดื่มสุรากัน คนขับก็ดื่ม ตัวเราอยู่ท้ายกระบะเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ ตนนอนอยู่ท้ายกระบะไม่รู้เรื่องมารู้ตัวอีกที กลายเป็นคนพิการ อัมพาตครึ่งท่อนไปแล้ว ตั้งแต่วันนั้นมาชีวิตเปลี่ยนไปมากและมีผลกระทบต่อการเรียนอย่างมาก แต่สิ่งที่สร้างกำลังใจให้มากที่สุดคือ ครอบครัว ทำให้หันมาสู้ชีวิตอีกครั้งด้วยการกลับไปเรียนหนังสือต่อจนจบชั้น ปวส.
“เรื่องการปรับตัว เราไม่สามารถเปลี่ยนสังคมให้มาหาเรา แต่เราจะต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับสังคม ทำให้ตนเองมีชีวิตที่ดีได้ในสังคม”
และผลจากความไม่ย่อท้อของธีรภัทร์ จากเดิมที่เคยเป็นนักกีฬาฟุตบอล แต่เมื่อร่างกายไม่เหมือนเดิม แต่ยังอยากที่จะออกกำลังกาย จึงหันไปฝึกกีฬาฟันดาบแทน จนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ สามารถคว้าเหรียญทอง เหรียญเงินในกีฬาวีลแชร์ฟันดาบในงานอาเซียนพาราลิมปิกส์
สุดท้าย นายธีรภัทร์ ฝากบอกผู้ที่ยังเมาแล้วขับว่า อยากให้คนที่ยังดื่มอยู่ร่วมมีความรับผิดชอบทางสังคม ถามว่าคุณดื่มได้ไหม คุณดื่มได้ แต่การดื่มของคุณต้องคำนึงถึงผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ถ้าดื่มแล้วอย่าขับ เพราะผู้ที่สูญเสียไม่ใช่แค่คนคนเดียว แต่มันจะสูญเสียทุกคน และครอบครัว
“ดื่มแล้วขับ ถูกจับแน่” จะไม่เป็นเพียงแค่วลีสั้นๆ ในการรณรงค์เท่านั้น ถ้าหากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะไม่เป็นแชมป์ด้านอุบัติเหมือนทุกวันนี้อย่างแน่นอน
ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง