จ.สตูล ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหาสุขภาพเด็ก
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษา จังหวัดชายแดนใต้
ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการแก้ปัญหาสุขภาพเด็กที่โรงเรียนบ้านตูแตหรำ จ.สตูล
โรงเรียนไม่ได้มีบทบาทเป็นแค่สถานศึกษาให้ความรู้เตรียมความพร้อมแก่เด็กนักเรียนในท้องถิ่นหรือชุมชนเพื่อให้ลูกหลานของคนในพื้นที่ได้เติบโตเป็นพลเมืองดีที่มีศักยภาพเท่านั้น แต่โรงเรียนยังไม่อาจแยกออกจากบทบาททางสังคม เพราะทั้งโรงเรียนและคนในชุมชนต่างต้องพึ่งพาเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
บ้านตูแตหรำ หมู่ 12 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีสภาพเป็นชุมชนแออัด ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ทำงานก่อสร้าง ทำประมง ใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำ มีรายได้ไม่มากนัก โรงเรียนบ้านตูแตหรำคือสถานศึกษาเพียงแห่งเดียวที่อยู่ใกล้ชุมชนมากที่สุด ช่วงเวลาที่ผู้ปกครองออกไปประกอบอาชีพ โรงเรียนจึงเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวที่ผู้ปกครองวางใจส่งบุตรหลานมาเล่าเรียน
แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนทำให้ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนต่างต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาวะ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีปัญหาอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน ส่วนเด็กนักเรียนมีปัญหาด้านสุขภาพฟัน ในจำนวนนักเรียน 100 คน มีนักเรียน 67 คนที่มีปัญหาฟันผุ และมีแนวโน้มต้องเผชิญกับโรคอ้วน นอกจากนั้นมักมีอาการปวดท้อง ผลจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ คณะครูจึงร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่นำมาใช้ควบคู่ไปกับการดำเนินงานโครงการ "สืบสานภูมิปัญญาสมุนไพรเพื่อชีวิต น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โชคชัย ทิพย์รองพล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตูแตหรำ มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ซึ่งมีข้อมูลจากโรงพยาบาลมาตรวจสุขภาพเด็ก พบว่า มีเด็กฟันผุจำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดอีกปัญหาหนึ่งในปัจจุบันคือเด็กมีภาวะอ้วนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ทางโรงเรียนจึงออกมาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพนักเรียน โดยที่ได้ดำเนินการแล้วคือ ห้ามแม่ค้านำไอศกรีม น้ำหวาน หรือน้ำอัดลมต่างๆ มาจำหน่ายในโรงเรียน ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นว่าชุมชนเองก็มีสมุนไพรหลายชนิด สามารถนำมาแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพได้ เช่น การทำน้ำสมุนไพรทดแทนน้ำหวานให้เด็กได้ดื่ม แม้แต่อาการปวดท้องของเด็กๆ สมุนไพรบางชนิดสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งจะทำให้เด็กที่เข้ารับบริการจากห้องพยาบาลมีอัตราลดลง
"องค์ความรู้ที่ได้เป็นภูมิปัญญาในชุมชน ทั้งจากวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญในพื้นที่ นอกจากนี้เรายังประสานงานกับโรงพยาบาลละงู ซึ่งมีแผนกแพทย์แผนไทยที่มีความชำนาญเข้ามาให้ความรู้ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น" ผู้อำนวยการโรงเรียนเล่าถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้น ผอ.รร.บ้าน
ตูแตหรำ ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมที่ดำเนินการไม่ใช่เป็นประโยชน์เฉพาะโรงเรียน แต่ยังเชื่อมโยงไปยังชุมชนด้วย ตั้งแต่การประชุมชี้แจงสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับนักเรียนและชุมชน ผู้ปกครองจะเข้ามามีส่วนร่วมเสนอแนวทางแก้ปัญหา มีการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้สมุนไพรเพื่อสร้างการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์แก่นักเรียน กิจกรรมผลิตเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การสร้างสวนสมุนไพรในโรงเรียนโดยบอกข้อมูลด้วยคิวอาร์โค้ด รวมทั้งการนำเสนอผลงานที่ออกแบบไว้ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกกิจกรรม
"พอนักเรียนของเรามีความรู้แล้วก็ได้เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำน้ำสมุนไพร ผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่างๆ ทั้งนักเรียน ครู คนชุมชน ต่างชื่นชอบที่มีการนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อไปเราก็จะค้นหาสมุนไพรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น กิจกรรมที่เราทำเป็นเพียงพื้นฐานเพื่อให้เด็กได้ต่อยอดในระดับต่อไป อาจทำผลิตภัณฑ์ตราสินค้าของโรงเรียนออกจำหน่าย" ผู้อำนวยการโรงเรียนระบุ
ทางด้าน เฉลิม บัวดำ แพทย์แผนไทยชำนาญการ โรงพยาบาลละงู เล่าว่า ทางโรงเรียนได้ขอคำปรึกษาในเรื่องการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาดูแลสุขภาพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มองเห็นปัญหาของชุมชนตูแตหรำ มีอาชีพก่อสร้าง การทำประมง มีปัญหาหลักคืออาการปวดเมื่อยที่ชาวบ้านประสบ ก็คิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะนำสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนมาทำลูกประคบ แก้ปัญหาปวดเมื่อยจากการทำงานที่เด็กๆ ก็สามารถนำกลับไปทำให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สามารถสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว จึงเริ่มต้นด้วยการทำลูกประคบสมุนไพร ยาหม่องไพลแก้ปวดเมื่อย โดยใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในพื้นที่เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต
"หลายครอบครัวมีการปลูกสมุนไพรอยู่แล้ว เช่น ไพร ขมิ้น ตะไคร้ มะกรูด ใบมะขาม แต่ไม่ทราบวิธีการนำมาใช้ประโยชน์ ทางโรงเรียนเห็นช่องทางในการเผยแพร่องค์ความรู้การดูแลสุขภาพ จึงนำเอาองค์ความรู้และสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ ทำให้สมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนไม่สูญหายไปไหน ที่แน่ๆ เราได้เครือข่ายเพิ่มคือ หมอยาสมุนไพรน้อยเป็นแกนนำกลุ่มแรกที่จะได้นำองค์ความรู้เข้าไปใช้ในชุมชน เป็นแบบอย่างให้โรงเรียนอื่นและชุมชนอื่นได้ทำต่อ จากการสอบถามพ่อแม่พบว่าเด็กๆ นำกลับไปทำ สามารถทำได้ตามที่เรียนรู้ไป และจะได้ถ่ายทอดไปสู่น้องๆ รุ่นต่อไป องค์ความรู้เหล่านี้ก็จะได้ไม่สูญหาย ชาวบ้านในชุมชนสุขภาพจะดีขึ้น ลดการไปแออัดที่โรงพยาบาล" แพทย์แผนไทยชำนาญการ โรงพยาบาลละงู กล่าว
"กิจกรรมที่ได้ดำเนินการมี 3 กระบวนการ คือ สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ถ้าสุขภาพนักเรียนดีการเรียนก็จะดีไปด้วย ที่สำคัญคือกระบวนการปฏิบัติ นักเรียนได้ทำน้ำสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อใช้ประโยชน์กับตัวเองและครอบครัว ส่วนสุดท้ายคือการคืนข้อมูลสรุปสู่ชุมชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน นอกจากนี้นักเรียนยังได้นำความรู้เรื่องสมุนไพรทำออกมาในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้ตนเองและชุมชนได้เรียนรู้ ส่วนในห้องเรียนก็จะใช้สมุนไพรมาทดลองในวิชาวิทยาศาสตร์ เช่น การคลายน้ำของพืช การสังเคราะห์แสง เป็นการบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนไปด้วย"คัตติญา จิเบ็ญจะ ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวถึงการบูรณาการองค์ความรู้ลงไปสู่ห้องเรียน
ผลจากการดำเนินโครงการได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้ ทั้งคณะครู นักเรียนและผู้ปกครอง เกิดความตระหนักถึงการดูแลรักษาสุขภาพด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน สร้างการรับรู้ประโยชน์ของสมุนไพรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในชุมชน เกิดเป็นสัมพันธภาพที่ดีระหว่างโรงเรียนและคนในท้องถิ่นโดยมีเรื่องของสมุนไพรและสุขภาพเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงการทำงานของทุกฝ่ายร่วมกัน