จ.ม.ถึงนายกรัฐมนตรี

คนอยู่บนที่สูงต้องมองให้กว้าง

 

 จ.ม.ถึงนายกรัฐมนตรี

                    เป็นธรรมชาติแห่งความจริง ที่ว่า คนซึ่งอยู่ในที่สูงนั้น ยอมมองภาพได้กว้างมากกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ ดังนั้น ใครก็ตามที่อยู่บนที่สูงแต่ไม่มองให้กว้างตามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้มา ย่อมถือว่า คนบนที่สูงนั้น ไม่เหมาะสมที่จะอยู้ในสถานที่นั้นๆ(เพราะอยู่ไปก็ไร้ค่า)

 

          เปรียบได้กับ คนในตำแหน่งผู้บริหาร นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ลดหลั่นกันลงมาเรื่อยๆ ถือว่า เป็นบุคคลที่ จัดอยู่ในประเภท คนบนที่สูง ทั้งนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ คนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบมากกว่าคนอื่นๆทั้งหมด

 

          มีจดหมายเปิดผนึก จาก เครือข่ายเพื่อสุขภาพฉบับหนึ่ง ส่งมาถึง นายกรัฐมนตรี ที่มีใจความดังต่อไปนี้…

 

          ” เรื่อง “คัดค้านการขอลดภาษีน้ำอัดลม”

 

          เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

 

          สืบเนื่องจากกระแสข่าวที่ตัวแทนผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมเสนอแนะให้รัฐบาลปรับลดภาษีสรรพสามิตลง เพื่อแลกกับคำสัญญาที่ผู้ประกอบการข้ามชาติจะลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นนั้น เครือข่ายด้านโภชนาการและเด็ก อันประกอบด้วยองค์กรภาคีด้านการส่งเสริมสุขภาพ เครือข่ายเยาวชนพ่อแม่ผู้ปกครอง นักวิชาการ และบุคลากรสุขภาพ ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มน้ำอัดลม และขอสนับสนุนท่าทีของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาประชาชนทุกวัยมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเป็นที่คาดหมายกันว่าหากยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ประชากรไทยครึ่งหนึ่งจะมีภาวะน้ำหนักเกินในปี พ.ศ. 2568 ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ สังคม และเป็นภาระต่อเศรษฐกิจในระยะยาว งานวิชาการล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเครื่องดื่มที่มีรสหวาน รวมถึงน้ำอัดลมจัดเป็นปัจจัยเชิงเดี่ยวที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อปรากฏการณ์การระบาดของโรคอ้วน และในปัจจุบัน ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีราคาน้ำอัดลมต่ำมากเมื่อเทียบกับนานาชาติ

 

          การสำรวจล่าสุดพบว่าเด็กไทยดื่มน้ำอัดลมในความถี่และปริมาณที่น่าตกใจ โดยเฉลี่ยแล้วเด็กไทยในวัยอนุบาลและประถมศึกษาดื่มน้ำอัดลม 0.2 ลิตรต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็น 66 ล้านลิตรต่อปี และมีเด็กไทยมากถึงร้อยละ 50 ที่ดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลมทุกวัน นอกจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน น้ำอัดลมยังมีผลต่อสุขภาพช่องปากของคนไทย ซึ่งนอกจากเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคฟันผุแล้ว ยังพบว่าหากดื่มเป็นประจำจะมีผลให้ฟันสึกกร่อนจากภาวะกรดของน้ำอัดลม

 

          นอกจากนี้ น้ำอัดลมยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสำหรับ เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย ที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์มากกว่า อย่างเช่น นม อุปกรณ์การเรียน หรือแม้แต่การสะสมอดออมสำหรับอนาคต โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนของคนไทย ปี 2551 อยู่ที่ 15,942 บาท ต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นค่าอาหาร และเครื่องดื่มมากที่สุดคือ ร้อยละ 34.2 ปัจจุบันประเทศไทยสามารถเก็บภาษีจากน้ำอัดลม ในปี 2550 จำนวน 2,352 ล้านบาท และปี 2551 จำนวน 1,780 ล้านบาท การปรับลดอัตราภาษี โดยภาษีจากน้ำอัดลมจะคิดเป็นร้อยละ 39.68 ของภาษีเครื่องดื่มทั้งหมด หากรัฐบาลคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนและจัดเก็บรายได้ภาษีจากสินค้าส่วนนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า รัฐที่ไม่มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มหรือขนมขบเคี้ยวจะมีอัตราส่วนของผู้เป็นโรคอ้วนสูงกว่ารัฐที่มีการเก็บภาษี 4 เท่า ส่วนรัฐที่ยกเลิกการเก็บภาษีจะพบอัตราส่วนของผู้เป็นโรคอ้วนสูงกว่ารัฐที่มีการเก็บภาษีถึง 13 เท่า ดังนั้นแนวทางของรัฐบาล ควรเพิ่มภาษีสินค้ากลุ่มที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าลดภาษี ทั้งนี้ หากมีการลดภาษีน้ำอัดลมจะก่อให้เกิดประโยชน์ในวงแคบและระยะสั้น ในการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการ แต่จะก่อผลกระทบต่อประชากรไทยในวงกว้างและในระยะยาว ในทางตรงกันข้ามงานวิจัยที่เป็นอิสระจากอิทธิพลของอุตสาหกรรมน้ำอัดลมได้แสดงให้เห็นว่า การปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำอัดลมจะก่อคุณประโยชน์ทั้งในมิติทางสุขภาพ ทางเกษตรกรรม และต่อรายได้ของรัฐ กล่าวคือจะช่วยควบคุมความรุนแรงของปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ปัญหาสุขภาพช่องปาก อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการบริโภคเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมาจากผลผลิตของเกษตรกรไทยโดยตรง

 

          เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายโภชนาการสมวัย มูลนิธิเด็กและครอบครัว และชมรมทันตสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องและสนับสนุนความกล้าหาญทางจริยธรรมของรัฐบาล ในการใช้มาตรการทางภาษีและราคาสำหรับเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูง โดยเฉพาะเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีรสหวานอื่นๆ ในการปกป้องสุขภาพและสังคม ทั้งนี้เครือข่าย จะมีความยินดีอย่างยิ่งหากได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อพัฒนามาตรการดังกล่าวร่วมกับกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลัง.”

 

          ในฐานะที่ ท่านนายกรัฐมนตรี มองเห็นภาพรวมของประเทศได้กว้าง และไกลมากกว่าคนอื่นใดทั้งประเทศ เชื่อว่า จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ น่าจะสะกิด จิตและวิญญาณให้หันมามองถึงความสุขของคนในชาติมากกว่า ความสุขของผู้ประกอบการที่ “ทำเพื่อตนเองมากกว่านึกถึงส่วนรวม”

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

Update: 30-09-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ