จ.นครพนม ระดมกำลังแก้ปัญหาไข้เลือดออก

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


จ.นครพนม ระดมกำลังแก้ปัญหาไข้เลือดออก thaihealth


สสจ.นครพนม ระดมกำลัง แก้ปัญหาไข้เลือดออกระบาด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครพนม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและมีฝนตกชุก นำมาซึ่งการขยายพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจากข้อมูลระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ณ วันที่ 20 มิ.ย.62 พบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 62 ของจ.นครพนม มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 12 อำเภอ รวม 185 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย ประมาณ 26 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเพิ่มมากกว่าปี 2561 ณ ช่วงเดียวกัน 2.18 เท่า


นพ.จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในจำนวน 185 รายนั้น มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 62 เป็นเด็กชาย อายุ 12 ปี 3 เดือน อยู่ที่บ้านทุ่งมน ต.คำเตย อ.เมืองนครพนม ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มีปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเสียชีวิตด้วย คือป่วยเป็นโรคอ้วน และเข้ารับการรักษาช้า ประกอบกับได้รับยา NSAIDs ก่อนมารับการรักษาที่โรงพยาบาล และมีการรับประทานยาต้มสมุนไพร ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะไตวาย ตับวาย ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมได้มีการส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วัน เพื่อจำกัดวงแพร่ระบาดรวมถึงมีการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายจัดตั้งวอร์รูมขึ้นมาเพื่อติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาอย่างอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง


นอกจากนี้ยังมีการประสานหน่วยงานในสังกัด อปท.และภาคีเครือข่ายในการทำงานเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่ตรวจสอบ ระดมเครื่องมือ อุปกรณ์ฉีดพ่นควัน แจกจ่ายทรายอะเบท และกำจัดภาชนะต้นเหตุของแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมถึงการสร้างความเข้าใจในการระวังภัยไข้เลือดออกและการป้องกันตัวเองให้กับประชาชน ในส่วนของรพ.นครพนมได้มีมาตรการในการกางมุ้งให้กับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยเช่นเดียวกัน ฝากถึงประชาชนให้ช่วยกันสอดส่อง ดูแลให้ทุกคนนอนกางมุ้ง หากพบว่าบุตรหลาน คนในครอบครัว มีอาการป่วย มีไข้ กินยาลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลด คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของโรคไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจทันที ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต เพราะปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน การรักษาจึงเป็นแบบประคองตามอาการจนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวและหายจากอาการป่วย ซึ่งหลังการรักษาโรค ไข้เลือดออกช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอีกครั้ง

Shares:
QR Code :
QR Code