จ.ตาก เรียนรู้การป้องกัน-แก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
กรมอนามัยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับท้องถิ่น ภาคเหนือ จังหวัดตาก
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลตากตก อ.บ้านตาก จ.ตาก นายวสันต์ ชำนาญจุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานกล่าวเปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับท้องถิ่นภาคเหนือ พร้อมกันนี้นายแพทย์ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวแถลงนโยบายการดำเนินงาน โดยมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน
นายแพทย์ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับท้องถิ่นเป็นความร่วมมือการทำงานระหว่างกรมอนามัย โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ในปี 2560 กรมอนามัยได้ขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลตากตก เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จึงได้รับคัดเลือกจากกรมอนามัยให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ 1 ใน 4 จังหวัดจากทั่วประเทศ
นายวสันต์ ชำนาญจุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นประเด็นสำคัญที่จังหวัดตากให้ความสนใจและอยู่ในประเด็นการแก้ปัญหาในระดับจังหวัด จากข้อมูลสถานการณ์ของจังหวัดตาก พบว่า มีอัตราการคลอดบุตรของมารดาอายุ 15-19 ปีในปี 2557 ถึง 2559 คือ 61.1 , 57.1 และ 52.6 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีหนึ่งพันคน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ แต่ยังพบปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา สาธารณสุข ท้องถิ่น สถานประกอบการ มูลนิธิ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ตำบล หมู่บ้าน จนถึงจังหวัด จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน นำพาเยาวชน ไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เยาวชนของประเทศ เป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป