จ้องมือถือ คอมพ์นาน เสี่ยงตาบอด

/data/content/25998/cms/e_dnopuz235678.jpg


        คนไทยป่วยโรคดวงตากว่า 80% เหตุจ้องคอมพ์ ติดสมาร์ทโฟน ระบุ UV แสงสีฟ้าทำจอประสาทตาเสื่อมรักษายาก อาการข้างเคียงเพียบ ทั้งเสี่ยงตาบอด แนะพักสายตาทุก 2 ชม. ใช้อุปกรณ์ป้องกันแสง ปรับค่าความสว่างให้พอเหมาะ


       รศ.นพ.นริศ กิจนรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผอ.ชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย เลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตามากกว่า 80% สาเหตุมาจากการได้รับรังสี UV 400, UVA1 และแสงสีฟ้า จากการเป็นสังคมก้มหน้า จ้องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน พบได้ทั้งผู้สูงอายุ วัยทำงานและเด็ก นอกจากนี้ พฤติกรรมที่พบส่วนใหญ่คือช่วงเวลาก่อนนอนที่จะมีการหยิบสมาร์ทโฟนมาเล่นในขณะที่ปิดไฟแล้วเป็นส่วนที่เร่งให้มีอาการทางสายตาเพิ่มขึ้น


       รศ.นพ.นริศ กล่าวต่อว่า อันตรายจากแสง UV แสงสีฟ้าที่อยู่ในจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต จะทำลายดวงตาเมื่อจ้องเป็นเวลานานเนื่องการกระพริบตาจะน้อยลงโดยปกติจะกะพริบตาประมาณ 20 ครั้งต่อนาที เพื่อให้ตาได้รับความชุ่มชื้น การเพ่งมองเป็นเวลานาน จะทำให้ตาแห้ง แสบตา ส่งผลให้การมองเห็นเริ่มผิดปกติเห็นภาพซ้อน ภาพไม่ชัด พร่ามัว ปวดเบ้าตา กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคคอมพิวเตอร์วิชชั่นซินโดรม เป็นส่วนทำให้เกิดต้อเนื้อ ต้อลมและจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ และรักษาได้ยาก อาจส่งผลให้ตาบอดได้ ขณะที่การตรวจสุขภาพตาน้อยมาก


       “ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ก็มีวิธีการหลีกเลี่ยงแสงอันตรายโดยการเลือกอุปกรณ์ป้องกัน หรือลดปริมาณแสงสีฟ้าที่ดวงตาได้รับโดยตรงเช่นผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด แสงสีฟ้า ป้องกันรังสี UV หรือใช้แว่นกันแดดที่มีการเคลือบสารป้องกันแสงที่เหมาะสม ปรับค่าความสว่างให้เหมาะสมเมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์ควรพักสายตาหากใช้นานเกินไปควรพักเป็นระยะทุก 1-2 ชั่วโมง ประมาณ 5 นาที ใช้วิธีการมองไกลหรือเปลี่ยนอิริยาบถทำกิจกรรมอย่างอื่นดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์บำรุงสายตาใช้อุปกรณ์ลดการสัมผัสจาก UV แสงสีฟ้าโดยตรง ส่วนในเด็กอยากให้ผู้ปกครองช่วยดูแลใกล้ชิดจำกัดระยะเวลาในการใช้สมาร์ทโฟน” รศ.นพ.นริศ กล่าว


 


 


          ที่มา :  ASTVผู้จัดการออนไลน์  


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต                        

Shares:
QR Code :
QR Code