จุฬาฯ วิจัยแอนติบอดีต้านมะเร็งเฟส 2 แล้ว
ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
แพทย์จุฬาฯ เดินหน้านวัตกรรมการรักษามะเร็งสู่การวิจัยผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันตัวเองเพื่อคนไทย ล่าสุด วิจัยแอนติบอดีต้านมะเร็งเฟส 2 แล้ว
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงข่าวแพทย์จุฬาฯ ก้าวไกล…สร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็ง ว่า จุฬาฯ มีความพร้อมในทุกศาสตร์ของโรคมะเร็ง และเพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยเข้าถึงสิทธิการรักษาอย่างเท่าเทียม โครงการรักษาด้วยแอนติบอดีเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จุฬาฯ วิจัยพัฒนาเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงต่อสังคม ซึ่งต้องใช้เวลาและมีงบสนับสนุนต่อเนื่อง
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การรักษามะเร็งส่วนใหญ่จะใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน การใช้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาเสริมถ้าโรคใดไม่สามารถรักษาเฉพาะที่ได้เช่นเดียวกับการใช้แอนติบอดีก็เป็นหนึ่งในการรักษาเสริม อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันมนุษย์มีหลายชนิดและจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์เป็นตัวทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ โดยอวัยวะต่างๆ จะผลิตเซลล์ที่ชื่อว่าพีดี-แอล 1 ซึ่งเป็นโมเลกุลในเม็ดเลือดขาวมาจับตัวกับเซลล์พีดี-1 หรือโมเลกุลบนเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งไม่ให้ทำงานเกินไปและทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายกลับสู่สมดุล ดังนั้น เทคโนโลยีการผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันเป็นการค้นหาแอนติบอดีเพื่อยับยั้งไม่ให้เซลล์พีดี-แอล 1 มาจับคู่กับพีดี-1 ทำให้ทีเซลล์ทำงานได้ต่อเนื่อง สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ขณะนี้ ทีมนักวิจัยจุฬาฯ ได้ค้นพบแอนติบอดีต้นแบบ 1 ตัว สามารถหยุดการทำงานไม่ให้พีดี-1 และพีดี-แอล 1 มาจับคู่กันได้ ให้ผลในหลอดทดลองใกล้เคียงกับยาแอนติบอดีของต่างประเทศ
ทั้งนี้ การผลิตยาจะทำทั้งหมด 5 เฟส ขณะนี้ เฟส 1 คือ การผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบจากหนู เราทำสำเร็จแล้ว ได้ต้นแบบมา 1 ตัว สามารถพัฒนาเฟส 2 คือ การปรับปรุงแอนติบอดีให้มีความคล้ายของมนุษย์ ตั้งเป้าภายในปี 2566 จะมียาใช้ทดลองในผู้ป่วยได้ การวิจัยพัฒนายารักษามะเร็งขึ้นเองในประเทศไทย เพราะขณะนี้ ต้องนำเข้ายาดังกล่าว จากต่างประเทศ 100% ยากลุ่มนี้จึงมีราคาแพง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษา.