จุฬาฯ มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในช่วง  2 ปีกว่าที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้พัฒนากิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพโดยตั้งเป้าว่าภายใน 2 ปีจากนี้จุฬาฯ จะต้องเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพให้ได้  โดยได้จัดเรื่องนี้เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนา ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เกื้อกูล” และ “เป็นสุข” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เน้น 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากร นิสิต ชุมชน และสังคม

ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ โครงการจักรยานในอุทยานจามจุรี พื้นที่ปลอดบุหรี่ในชุมชนภายในมหาวิทยาลัย โครงการสปอร์ตคอมเพล็กซ์ การใช้กิจกรรมสุขภาพเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และสร้างประโยชน์ร่วมกัน การจัดพื้นที่เต้นแอโรบิกบริเวณตลาดสามย่าน เป็นต้น รวมทั้งจะมีการปลุกจิตสำนึก และการพัฒนาจิตอาสาให้นิสิต โดยในปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป กำหนดให้นิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ทุกคนต้องทำกิจกรรมอาสา อย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลา 3 ปี ส่วนนิสิตปริญญาโทต้องทำกิจกรรมอาสา อย่างน้อย 10 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 ปี ส่วนรูปแบบการทำกิจกรรมอาจเป็นการรวมกลุ่มของนิสิต  คณะ หรือ โครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และจะมีการบันทึกในทรานสคริปต์ของนิสิตเมื่อสำเร็จการศึกษาด้วยว่านิสิตทำความดีอะไรบ้าง

“การบันทึกความดีจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิต โดยเฉพาะเมื่อไปสมัครงาน ทำให้นายจ้างเห็นได้ว่านอกจากนิสิตจะขยันเรียนแล้ว ยังทำประโยชน์ให้แก่สังคมด้วย ทั้งนี้ผมเห็นว่าในช่วงแรกหากนิสิตคนใดไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมอาสาได้ตามที่กำหนด ก็อาจจะยังไม่มีการดำเนินการอะไร   แต่เท่าที่คุยเบื้องต้นกับคณบดีคณะต่าง ๆ มีบางรายเสนอว่าหากนิสิตไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามกำหนด อาจจะไม่ให้จบการศึกษา แต่ยังต้องหาข้อสรุปต่อไป” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ