“จิ๊กกิ้ว จิ๊กกิ้ว” หุ่นละครสาย ฉบับเยาวชน
เมื่อเด็กกลายเป็นผู้สร้างและให้ชีวิตแก่หุ่น แล้วสวมวิญญาณของศิลปิน ถ่ายทอดเป็นเรื่องราวที่เข้าถึงยุคและสมัย เนื้อเรื่องง่ายๆ ภาษาเข้าใจง่าย แฝงไปด้วยความสนุกสนาน ชีวิตชีวา ส่งต่อไปสู่เพื่อนๆ ต่างวัย สร้างทัศนคติใหม่เพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอด ขัดเกลาจิตใจ ผ่านสื่อ “หุ่นละครสาย”
แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะหาดูหุ่นละครสายได้ยาก แต่ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ยังมี “หุ่นละครสาย” นี้ให้ชมกันอยู่ ผ่านโครงการหุ่นสายยี่สารจิ๊กกิ้ว อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่สนับสนุนโดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. โครงการที่เน้นการฝึกฝน เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชาวชุมชนเขายี่สาร ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นชุมชนเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่หลัง “เขายี่สาร” ภูเขาลูกเดียวของจังหวัดสมุทรสงคราม การเชิด “ละครหุ่นสาย” นี้ ได้น้องๆ เยาวชนจากโรงเรียนวัดเขายี่สาร (ประมุขเวชกิจ) มาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวยี่สารผ่านตัวละครหุ่นสายที่สนุกสนานและน่าตื่นตาตื่นใจ
“หุ่นสาย” เป็นหุ่นที่ใช้เส้นเชือกชักเชิด ผู้สร้างหุ่นสายมีวิธีการสร้างหุ่นเฉพาะตัว ซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน วิธีการทำหุ่นสายที่อัมพวานี้จะใช้ไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น อย่างในหมู่บ้านยี่สารเองมีต้นโกงกางเป็นจำนวนมากสามารถนำมาใช้ได้ หรือใช้ไม้แคป่า หรือจะทำจากวัสดุรีไซเคิลแล้วแต่การดัดแปลง แต่โดยทั่วไปศรีษะและลำคอ ของหุ่นประเภทนี้ จะสร้างจากวัสดุที่เป็นไม้น้ำหนักเบาหรือกระดานปิดกาว(เปเปอร์มาเช่) ส่วนวัสดุที่นำมาสร้างลำตัวของหุ่นต้องแข็งแรงพอสมควร เช่น ไม้ กระดาษปิดกาว หรือผ้ายัดนุ่น ลำตัวของหุ่นสายแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไป และส่วนล่างจากเอวลงมา เพื่อให้การเชิดเคลื่อนไหวได้อ่อนช้อยคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์มากที่สุดและที่เท้าของหุ่นมักถ่วงให้หนักด้วยตะกั่ว โดยรวมแล้วอวัยวะแทบทุกส่วนของตัวหุ่นสายจะถูกสร้างให้เคลื่อนไหวได้
การตกแต่งหุ่นจะใช้สีวาดและทาตามอวัยวะต่างๆ ที่เป็นส่วนของร่างกาย ส่วนเสื้อผ้าก็มักจะให้มีสีสันสดใส ฉูดฉาด เพื่อดึงดูดสายตาและความสนใจของผู้ชม เสื้อผ้าและเครื่องประดับต่างๆ ของหุ่นจะมีลักษณะหลวมๆ และเบาเพราะหุ่นประเภทนี้ต้องใช้การเคลื่อนไหวมาก ตัวหุ่นมีเส้นเชือกซึ่งมีความเหนียวมากผูกตรึงกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของหุ่น โดยเฉพาะที่แขนและขา และโยงไปยังด้ามบังคับที่ทำด้วยไม้เป็นรูปกากบาท ผู้เชิดหุ่นจะเชิดจากด้านบนของโรงหุ่น ซึ่งสร้างยกพื้นอยู่ด้านหลังของฉาก เพื่อให้ผู้เชิดสามารถแสดงยืนชะโงกออกมาเชิดตัวหุ่นที่อยู่ข้างหน้าฉากได้ถนัด
อาจารย์ปริชาติ นวรินทร์ คุณครูประจำโรงเรียนวัดเขายี่สาร และคุณครูผู้ฝึกสอนในโครงการหุ่นสายจิ๊กกิ้ว อัมพวา เล่าว่า สำหรับโครงการหุ่นสายยี่สารจิ๊กกิ้ว อัมพวา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 โดยเริ่มออกแสดงเรื่องแรกในชื่อเรื่องว่า “สายเกินไป” เป็นการรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า และเป็นการนำหุ่นมาเป็นสื่อรณรงค์เพื่อให้ผู้คน เยาวชน และเด็กๆ ในชุมชนสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยมีเอกลักษณ์หรือความโดดเด่นของหุ่นสาย คือ ความน่ารักของตัวหุ่นที่บ่งบอกอาการคล้ายคนมากที่สุดเมื่อขึ้นแสดง ทำให้ผู้ชมชอบใจในตัวหุ่น โดยเป็นการร้อยเรียงบทละครสอดแทรกข้อคิด คติเตือนใจเอาไว้ ทั้งนี้ยังเป็นการสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กๆ ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ซึ่งในการทำกิจกรรมเด็กๆ ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ที่มีสมาธิมากขึ้น ดูมีความสุขมากขึ้น มีสุขภาวะทางด้านจิตใจที่ดีขึ้น
นางปนัดดา เต็มเปี่ยม หัวหน้าโครงการหุ่นสายยี่สารจิ๊กกิ้ว อัมพวา บอกว่า เริ่มแรกโครงการจะคัดเลือกเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 มาเข้าร่วมกิจกรรมผ่านกระบวนการฝึกซ้อมหุ่นสาย โดยให้เริ่มจากการทำบทละคร การใส่ท่าทางการแสดง และฝึกดนตรีที่จะใช้ประกอบกับการเชิดหุ่น ส่วนบทที่ใช้ในการแสดงจะมีทั้งบทพูด บทร้อง และแสดงไปพร้อมๆ กัน โดยบททั้งหมดเน้นเรื่องของการรณรงค์ การให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวภายในชุมชน สิ่งแวดล้อมรอบตัว เรื่องของสุขภาวะผ่าน “หุ่นสาย” โดยตัวหุ่นนั้นจะเป็นเสมือนตัวแทนเด็กๆ ที่จะบอกเล่าเรื่องราวกับสาธารณะชน โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที เพื่อไม่ให้น่าเบื่อมากเกินไป เนื้อเรื่องจะสั้นๆ สนุกสนาน และน่าสนใจ…
ปัจจุบันหุ่นสายยี่สารมีอยู่หลายตัวด้วยกัน แต่ละเรื่องจะมีการจัดทำหุ่นการรีไซเคิลทั้งสิ้น คือ ใช้กระป๋อง ใช้วัสดุเหลือใช้มาทำเป็นหุ่นขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ และในแต่ละเรื่องก็จะมีตัวละครเด่นๆ ประจำเรื่องเสมอ อย่างเรื่อง “ตุ๊ต๊ะ (อ้วน)” จะมีตัวหุ่นที่เป็นเด็กตัวอ้วนกับตัวผอมพูดคุยกันว่า ทำไมถึงอ้วน? …ซึ่งนี่เป็นการรณรงค์โรคอ้วนในเด็กให้เด็กหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังให้ความรู้เรื่องการบริโภคของเด็กๆ ว่าควรจะต้องทานอะไร ควรจะต้องออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างไรเพื่อไม่ให้อ้วน เพราะหากอ้วนจะเกิดโรคร้ายตามมามากมาย นอกจากนั้นจะมีการพูดถึงเรื่องราวของชุมชน เป็นเหมือนการให้ความรู้ว่าชุมชนเรามีของดี มีอาชีพอะไรบ้าง? และอื่นๆ อีกมากมาย
คำว่า “จิ๊กกิ้ว” เป็นคำสร้อยที่อยู่ในนื้อเพลง ท่อน(Hook) “จิ๊กกิ้วจิ๊กกิ้ว…” ความหมายของ “จิ๊กกิ้ว” คล้ายคลึงกับคำว่า “จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋” แต่เมื่อเป็นรุ่นเด็กจึงกลายเป็น “จิ๊กกิ้ว” เมื่อร้องเป็นเพลงแล้วจึงมีความน่ารักเป็นพิเศษ
“เนื่องจากหุ่นสายยี่สารจิ๊กกิ้วนี้มีความน่าสนใจ และเพื่อเป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับการแสดงมากขึ้น ทางโครงการคจึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การทำงานของแผนงานสื่อศิลปวันธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มาช่วยหนุนเสริม ได้แก่ กลุ่มหน้ากากเปลือยแผนเยาวชน มาสอนในเรื่องของการแสดง การเขียนบทร้องให้น่าสนใจมากขึ้น กลุ่มเยาวชนจอมทองเพอร์คัสชั่น (Percussion) มาช่วยเสริมในเรื่องของดนตรี และการตีกลองใส่จังหวะให้กับหุ่นสาย มีบทร้องบทพูด ซึ่งเพิ่มความน่ารักน่าสนใจมากขึ้นด้วย ผลที่ออกมาก็สนุกสนานเป็นที่น่าพอใจ น้องๆ ก็ได้แสดงความสามารถในด้านดนตรีและการแสดงเพิ่มมากขึ้น” นางปนัดดา เล่า
และสำหรับตัวเยาวชนแล้ว ด.ญ.นันท์นภัส แสงนาค อายุ 8 ปี ผู้ขับร้องหุ่นสาย เล่าว่า ที่เลือกเข้าร่วมโครงการหุ่นสายยี่สารจิ๊กกิ้ว เพราะรู้สึกว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีนอกจากจะได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่วัฒนธรรมในท้องถิ่นให้แก่ผู้อื่นแล้วยังเป็นการฝึกพัฒนาตัวเองที่ดี ซึ่งการฝึกนั้นเริ่มแรกคุณครูจะสอนให้หัดพากย์ หัดอ่านแล้วจึงค่อยใส่อารมณ์กับบท ก่อนที่จะหัดเชิดหุ่น เพื่อดูคุณสมบัติก่อนว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เหมาะไปทางเชิดหรือพากย์ แต่โดยส่วนตัวแล้วชอบพากย์มากกว่า เพราะการพากย์จะมีความยากตรงที่ต้องใส่อารมณ์ให้กับหุ่นหรือตัวละครที่ได้รับ ดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากจะได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว สังเกตุได้เลยว่าจะอ่านหนังสือได้คล่องมากขึ้น ทั้งยังฝึกให้เรามีความตรงต่อเวลา รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความกล้าแสดงออกซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีโครงการนี้เข้ามา…
ด.ญ.ดวงหทัย จันทร์รศ อายุ 11 ปี ผู้เชิดหุ่นสาย เล่าว่า การคัดเลือกผู้เชิดหุ่นนั้นคุณครูจะมองถึงความสามรถเรื่องการจับจังหวะ ส่วนผู้ที่พากย์คุณครูจะดูจากน้ำเสียงที่พากย์ว่าดีหรือไม่ โดยวิธีการที่คุณครูสอนเชิดหุ่น ได้แก่ การเดิน การไหว้ การกราบ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการและเทคนิคที่จะรับส่งบทกับผู้พากย์ และการบังคับตัวหุ่นไปพร้อมๆ กัน โดยทั้งผู้พากย์และผู้เชิดจะต้องฝึกซ้อมจนคุ้นชินกันก่อนที่จะการแสดง ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบรอยยิ้มให้คนดูได้รับรู้ และเมื่อเราได้รับสิ่งนี้กลับมาทำให้เราอยากที่จะสืบสานหุ่นสายต่อไปเพื่อที่จะให้ผู้คนได้รับรู้เรื่องราวของหุ่นสายยี่สารมากยิ่งขึ้น
ตอนนี้ถือได้ว่า “หุ่นสาย” เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโรงเรียนวัดเขายี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามที่มีเด็กนักเรียนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นของดีของชุมชน ที่มีพระเอกเป็น “หุ่นสาย” ในอนาคตจะมีการผลักดันให้หุ่นสายเป็นหลักสูตรหนึ่งของโรงเรียน เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และอยู่คู่กับชุมชนตลอดไป เพื่อไม่ให้สูญหาย…
“เมื่อหุ่นสายขยับตัว รอยยิ้มและพัฒนาการของเด็กๆ ก็เริ่มเบิกบาน”
… วันนี้สองมือเด็กเริ่มขยับ วันหน้าของดีก็จะได้รับสืบสาน สืบทอด ให้อยู่คู่บ้านคู่เมืองสืบไป …
… จิ๊กกิ้ว จิ๊กกิ้ว …
ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.