จิตแพทย์ห่วงคนตระหนกข่าวฝุ่น PM2.5 ทำเครียดสะสม
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
แฟ้มภาพ
จิตแพทย์ห่วงคนตระหนกข่าวฝุ่น PM2.5 จนเครียด โดยเฉพาะคนเครียดสะสมจากเรื่องอื่น หรือมีปัญหาสุขภาพ แนะทำความเข้าใจ ระวังแต่พอดี ดีกว่าตระหนกตกใจ จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องแจงมาตรการรองรับหากเกิดวิกฤต
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่มีความเครียดอยู่แล้วทั้งจากเรื่องรายได้ ครอบครัวและสุขภาพ ก็ต้องมาเจอกับเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตจากความตื่นตระหนก เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ที่ชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงปริมณฑล ไม่เคยพบเจอบ่อยนัก ทั้งยังมีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลมากมายจากสำนักข่าวต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการสับสนขึ้น
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า อันที่จริงฝุ่นละอองระดับที่เป็นปัญหาสุขภาพกับทุกคนต้องเกิน 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น การเข้าใจและระวังที่พอดี จะดีกว่าความตระหนกตกใจ จนไม่กล้าออกนอกบ้านหรือแห่ซื้อหน้ากากป้องกัน หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง รวมถึงสื่อสารให้ประชาชนรู้ว่า หากเกิดวิกฤตจริงๆ ควรมีมาตรการรองรับ เช่น ปิดโรงเรียน ปิดงานบางส่วนในระยะสั้นๆ เพื่อลดฝุ่นละออกจากรถยนต์ ประชาชนจะได้ไม่เกิดความว้าวุ่นใจ
"ความเครียดคนเราเป็นความเครียดสะสมจากเรื่องต่างๆ จนกระทั่งรุนแรงเป็นอาการปวดหัว เบื่ออาหาร นอนไม่หลับและพฤติกรรม โดยเฉพาะการกระทบกระทั่งกันบนท้องถนน หรือในครอบครัว ดังนั้นคนที่น่าเป็นห่วงในวิกฤตดังกล่าว คือ คนที่มีความเครียดสะสมอยู่แล้วและในผู้มีปัญหาสุขภาพ อย่าลืม หลักการดูแลคนใกล้ชิด 3 ส. คือ “สอดส่อง มองหา” ผู้ที่มีปัญหา “ใส่ใจรับฟัง” ให้เข้าใจปัญหาและเกิดความไว้วางใจ “ส่งต่อเชื่อมโยง” ที่จะนำไปสู่การช่วยเหลือและบริการต่าง ๆ ท้ายที่สุดสื่อมวลชนต้องพึงระวังการนำเสนอข่าวที่ไม่ควรสร้างความตระหนกจนเกินไป และประชาชนควรใช้เวลาติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสม สังคมไทยควรใช้โอกาสนี้ หาหนทางในการแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป" นพ.ยงยุทธ กล่าว