จิตอาสาคนรุ่นใหม่ น้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัย

จิตอาสาคนรุ่นใหม่ น้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัย 

 

            เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2553 สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยไม่เคยทิ้งกัน ความช่วยเหลือมากมายหลั่งไหลสู่ผู้ประสบภัยอย่างไม่ขาดสาย ถือเป็นความงดงามที่เกิดขึ้นในยามที่บ้านเมืองประสบภัย และคนไทยก็พร้อมที่จะสลัดความบาดหมางทิ้ง แล้วหันหน้ามาช่วยเหลือกัน ตรงกับคำว่า “น้ำตามีวันหยุด น้ำใจไม่มีวันหมด”

 

จิตอาสาคนรุ่นใหม่ น้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัย   จิตอาสาคนรุ่นใหม่ น้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัย

 

            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับมูลนิธิโกมลคีมทอง จัดทำ “โครงการฟื้นฟูสุขภาวะผู้ประสบอุทกภัย” โดยการเชื่อมร้อยพลังของคนหนุ่มสาว พลังจิตอาสา ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานค่าย หรือเครือข่ายนักศึกษา เครือข่ายจิตอาสา หรือภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทสนับสนุนงานอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ ดำเนินกิจกรรมในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

            โครงการ “ค่ายอาสาสมัครฟื้นฟูสุขภาวะผู้ประสบภัย” นี้ สสส.และมูลนิธิโกมลคีมทอง ได้ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ รวมทั้งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ไปออกค่ายเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้คนให้สุขภาวะกลับคืนมาใน 27 แห่ง โดยการลงปฏิบัติงานอาสาจะทำต่อเนื่อง 3-7 วัน หรือเป็นลักษณะฟื้นฟูช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ต่อเนื่อง จำนวนอาสาสมัครที่ออกค่ายในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 20 คน

 

จิตอาสาคนรุ่นใหม่ น้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัย

 

            “เก่ง” นายโชคนิธิ คงชุ่ม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนออกค่ายฟื้นฟูน้ำท่วมในนาม “กลุ่มใบไม้” เล่าว่า เมื่อเริ่มสำรวจพื้นที่ประสบภัย เช่น ที่โรงเรียนวัดมหาโลก ต.บ้านครัว อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เราไปช่วยเหลือด้วยการซ่อมแซมโต๊ะ เก้าอี้ ฟื้นฟูห้องสมุดของโรงเรียน และให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อการเกิดภัยพิบัติ ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

 

            กลุ่มใบไม้มีนักศึกษาประมาณ 50 คนจากหลายสถาบัน ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและนำความรู้สู่ชุมชน เช่น การออกค่ายฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม ก็เป็นการสร้างเวทีให้กับตัวเองในการช่วยเหลือสังคม

 

            “คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ไม่สนใจความเป็นไปของสังคม แต่วัยรุ่นล้วนมีเหตุผลในการกระทำของตัวเองเพียงแต่ว่าจะหาพื้นที่ในการแสดงออกตามความสนใจของตัวเองอย่างไรเท่านั้น” น้องเก่ง กล่าว

 

            โครงการฟื้นฟูสุขภาวะผู้ประสบอุทกภัยภายใต้การสนับสนุนของ สสส. คือ การสนับสนุนภาคีเครือข่ายนักศึกษาและอาสาสมัครในการทำงานเพื่อชุมชน หรือการเพิ่มเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปทำงานเพื่อสังคม

 

จิตอาสาคนรุ่นใหม่ น้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัย

 

            นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า เราเห็นพลังจากจุดเล็กๆคนเล็กๆ ว่า สามารถช่วยเหลือสังคมได้ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้สังคมไทยเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ที่บอกทุกคนว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติ เราต้องลงมือทำทันที จากนั้นก็จะมีคนมาช่วย

 

            “หากเราเริ่มจากจุดเล็กๆ ก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นในที่สุด คนเป็นอาสาสมัครจะได้ประโยชน์ ที่เห็นผู้อื่นทุกข์ คือ เราจะเข้าใจความทุกข์” นพ.บัญชา กล่าว

 

            ตรงกับที่นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ก็พูดไว้น่าฟังว่า “พวกเรายืนต่อแถวซื้อความสุขให้ตัวเอง แต่ผมอยากเห็นเราต่อแถวเพื่อให้ความสุขกับคนที่รอความช่วยเหลือจากเราอยู่”

         

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

update : 10-01-54

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ