จาก ‘วิถีธรรม’ ขยายสู่ ‘วิถีทำ’

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 


 จาก 'วิถีธรรม' ขยายสู่ 'วิถีทำ'  thaihealth


แฟ้มภาพ


"ธรรมเป็นฐาน งานนั้นเป็นทุนบุญคือเป้าหมาย" กลางสถานการณ์ยุ่ง ๆ ระหว่าง "พระสงฆ์" และ "ฆราวาส" ที่มีเกิดขึ้นในบางพื้นที่ แต่กับบางชุมชน ไม่เพียงไม่มีเรื่องให้ต้องวุ่นหัวใจ แต่ยังขับเคลื่อนเดินหน้าไปพร้อม ๆ กันได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งก็รวมถึงกรณีศึกษาในพื้นที่ จ.น่าน ที่ซึ่ง"พระสงฆ์กับฆราวาสจับมือกันเพื่อร่วมพัฒนาชุมชน"เป็น "วิถีที่น่าชื่นชม" ที่วันนี้ "ทีมวิถีชีวิต" มีเรื่องราวและแง่มุมมานำเสนอ


"ถ้าถามว่าเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่? อาตมาคิดว่า มันเกินกิจของสงฆ์ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าชาวบ้านหรือคนในชุมชนมีปัญหา มิใช่วัดหรือที่ต้องเป็นสถานที่บำบัดความทุกข์ให้แก่ชาวบ้าน" เป็นทั้ง "คำตอบ-คำถาม" ในคราเดียวกัน ที่ พระครูสุจิณนันทกิจ หรือที่รู้จักกันในนาม "พระอาจารย์สมคิด" ประธานมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน ระบุไว้ ต่อข้อสงสัย…ที่สังคมมักจะชอบตั้งคำถาม โดยตีกรอบจากคำว่า "กิจของสงฆ์" ทั้งนี้ พระอาจารย์สมคิดนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น "พระนักพัฒนา" โดยที่ผ่านมาพระอาจารย์รูปนี้ได้ถักทอชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน โดยนำกุศโลบายจากคติคำสอนทางศาสนาพุทธเข้ามาปรับใช้ อย่างไรก็ดี ท่านก็มองเห็นถึง "ข้อจำกัด" ของเพศบรรพชิตในการทำงานด้านการพัฒนาชุมชนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อจะให้งานพัฒนาเดินหน้าไปได้ดี ท่านจึงมองว่า จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากฆราวาสด้วย จึงเป็นที่มาของ "วิถีธรรม-วิถีพลเมือง" ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.น่านแห่งนี้ โดยมี "เยาวชน" เป็นกลไกสำคัญ ผ่านโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เยาวชนมีทักษะชีวิตและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน


"น่านมีบทเรียนที่น่าสนใจหลายเรื่อง แต่จุดอ่อน ของที่นี่คือ การขับเคลื่อนกิจกรรม ที่ยังไปไม่ถึงปลายทาง เรามีนักพัฒนาเยอะแยะ แต่ยังพัฒนาไม่ถึงเป้า เหมือนเราข้ามไปไม่ถึงฝั่ง ในฐานะพระสงฆ์ พระอาจารย์มองว่าวันนี้เรามีพลังมากพอแล้ว แต่โจทย์คือจะทำอย่างไรกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เขาเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกันของทุกคน ดังนั้น จึงคิดว่าต้องทำให้วัดเป็นสถาบันการเรียนรู้ เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ถึงจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาได้"


 จาก 'วิถีธรรม' ขยายสู่ 'วิถีทำ'  thaihealth


พระอาจารย์สมคิดขยายความเรื่องนี้ไว้ พร้อมบอกว่า บทเรียนที่ผ่านมาของ จ.น่าน ทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่า ปัญหาเบื้องต้นอื่น ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้จะมีการตื่นตัวเมื่อมีปัญหา แต่แนวคิดการแก้ปัญหาก็ยังไม่ตรงจุดทั้งหมด ซึ่งจากมุมมองนี้จึงนำไปสู่การคิดพัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นที่ โดยทางวัดเริ่มต้นจาก กลุ่มสามเณรโรงพระปริยัติธรรม ด้วยเห็นว่า สามเณรที่เข้ามาบวชเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมนั้น มีต้นทุนทางครอบครัว สังคม หรือกระทั่งฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่านักเรียนทั่วไป ดังนั้นการสร้างกระบวนการคิดที่ดีให้สามเณร จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามเณรก็คือพลังเยาวชนที่จะช่วยสร้างบ้านแปงเมืองได้


"โครงการนี้จะช่วยพัฒนาให้สามเณรเป็นคนดีและมีคุณภาพได้ โดยไม่ขัดต่อกิจของสงฆ์" พระอาจารย์สมคิดเน้นย้ำถึงเรื่องนี้ไว้อีกครั้ง และยังระบุไว้ด้วยว่า ท่านเลือกใช้วัดทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับชาวบ้าน เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้ทุนทางสังคมของชุมชนมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื่อว่าบทบาทของความเป็นพระสงฆ์นั้น ไม่ควรเป็นเพียงแค่ตัวแทนความเกี่ยวข้องทางศาสนาเท่านั้น แต่ควรที่จะรวมไปถึงการมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและชุมชนด้วย และอย่างน้อยกระบวนการเหล่านี้ก็จะช่วยสร้างจิตสำนึกรักบ้านรักเมืองที่จะติดตัวสามเณรไปจนเป็นผู้ใหญ่ และท้าย ที่สุดนั้น ชุมชนก็จะมีแกนนำ มีผู้นำ หรือแม้แต่สมาชิกที่ดี ที่จะช่วยขับเคลื่อนเมืองน่านให้น่าอยู่ต่อไปได้ เหมือนกับการปลูกต้นไม้ เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นก็ย่อมมี ดอกมีผล


ฟังจากพระอาจารย์สมคิดแล้ว ลองฟังจาก "สาม เณร" บ้าง โดย สามเณรวีรพล สิงสาร ตัวแทน โครงการเคลื่อนพระธรรมนำสู่สังคม ระบุว่า โครงการนี้ทำให้สามเณรมีโอกาสแสดงบทบาทตนเองต่อชุมชนและสังคมมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการออกเดินสายบรรยายธรรมตามชุมชน สร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดชุมชน และได้ทำหน้าที่ในฐานะศาสนทายาทไปพร้อมกันด้วย ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของโครงการ ทำให้เหล่าสามเณรมีโอกาสนำธรรมะไปเผยแผ่ให้ชาวบ้านถึงในพื้นที่ จากบทบาทเดิมที่จะปาฐกถาธรรมเป็นเวลาสั้น ๆ หน้าเสาธง หรือเมื่อมีงานสำคัญทางศาสนาในวัดเท่านั้น ซึ่งนี่จึงกลายเป็นที่มาของ "ธรรมะเคลื่อนที่"


 จาก 'วิถีธรรม' ขยายสู่ 'วิถีทำ'  thaihealth


อย่างไรก็ดี หนทางที่นำมาซึ่งความเข้าใจหลักธรรมคำสอนของ พระพุทธเจ้า อย่างถ่องแท้ จนสามารถบรรยายให้ผู้อื่นฟังได้นั้น สามเณรวีรพลระบุไว้ว่า ก็ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าที่จะทำหน้าที่ศาสนทายาทได้ เริ่มตั้งแต่การศึกษาพระธรรม การสอบ ฝึกทักษะการพูด ทั้งต่อหน้าสามเณร พระพี่เลี้ยง เจ้าอาวาส โดยแต่ละขั้นตอนก็จะมีมาตรฐานการวัดผลแตกต่างกันไป


"เป้าหมายของโครงการนี้ คือต้องการให้สามเณรนำหลักธรรมที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันไปบรรยายให้ญาติโยมฟังได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน แต่คงไม่ถึงขนาดขึ้นนั่งเทศน์บนธรรมาสน์ เพียงแค่ยืนเทศน์ให้ญาติโยมได้ฟังครั้งละ 5-15 นาที ตามโอกาสก็เพียงพอ แล้ว ค่อย ๆ ฝึกฝน ค่อย ๆ เริ่มจากน้อยไปหามาก" สามเณรวีรพลระบุไว้


ด้าน สามเณรณัฐบดี จันต๊ะวงค์ ตัวแทนสามเณรจาก โครงการบวชป่าอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ระบุถึงการเข้าร่วมโครงการนี้ไว้ว่า การครองเพศบรรพชิตไม่ได้ปิดกั้นจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง ทำให้ท่านต้องการเข้าร่วมโครงการฯดังกล่าว เนื่องจากพบว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ จ.น่าน เริ่มเข้าขั้นวิกฤติ จึง ตั้งใจที่จะอนุรักษ์และพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำ โดยใช้ความศรัทธาเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้


"นำความเชื่อตามหลักพุทธศาสนามาเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของพื้นที่ป่าชุมชน โดยจัดพื้นที่บริเวณเนินเขาวัดพระธาตุดอยจอมทอง บ้านดอนสถาน อ.ปัว ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของพระธาตุเก่าแก่ที่ชาว อ.ปัว นิยมไปเคารพสักการะ ให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ของชุมชน ซึ่งในอนาคตก็หวังว่าหากป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ ในอนาคตป่าแห่งนี้ก็จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้กับชาวบ้านต่อไป" สามเณรณัฐบดีระบุไว้


เช่นเดียวกับสามเณรอีกกลุ่มที่ร่วมกันทำ โครงการกระดาษรีไซเคิล ซึ่งจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ไม่ใช่แค่ "กระดาษ" แต่เป็นการ "กระตุ้นและสร้างจิตสำนึก" ให้สามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมเห็นคุณค่าของกระดาษ ด้วยการใช้กระดาษให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำกระดาษใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเพื่อให้สามารถใช้งานได้อีก โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ใกล้ตัว


เกี่ยวกับโครงการนี้ ตัวแทนกลุ่มอย่าง สามเณรพิทยาธร อนัญญาวงศ์ เล่าไว้ว่า ส่วนตัวมีประสบการณ์การทำกระดาษสามาก่อนตั้งแต่เข้ามาบวชเรียนใหม่ๆ จึงสนใจ และคิดว่าการเข้ามาทำโครงการครั้งนี้จะได้นำความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าเก็บความรู้ไว้กับตัวเองซึ่งทำประโยชน์อะไรไม่ได้ และรู้สึกดีทุกครั้งที่มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่น ๆ ต่อไป


 จาก 'วิถีธรรม' ขยายสู่ 'วิถีทำ'  thaihealth


สามเณรรูปเดิมอธิบายขั้นตอนการรีไซเคิลกระดาษทำเป็นกระดาษสาว่า เริ่มจากขอความร่วมมือสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมให้ช่วยกันเก็บรวบรวมกระดาษที่ใช้แล้ว โดยเมื่อได้มาแล้วก็นำไปแช่น้ำจนยุ่ย ก่อนจะปั่นรวมกับปอสาที่ฟอกขาวแล้ว จากนั้นจึงค่อย ๆ ช้อนกระดาษที่ได้รับการผสมขึ้นตะแกรงแล้วนำไปตากจนแห้ง โดยการผลิตแต่ละครั้งจะใช้กระดาษใช้แล้วที่ผ่านการแช่น้ำอย่างน้อย 2 กิโลกรัม โดยจะได้กระดาษสาที่สามารถนำมาใช้งานได้อีกครั้งประมาณ 10 แผ่นขึ้นไป


ทั้งนี้ พระอาจารย์สมคิด ประธานมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) ท่านได้กล่าวถึง "การทำงานร่วมกันระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส" รูปแบบนี้ไว้อีกว่า จ.น่าน เป็นเมืองชายแดนแห่งล้านนาตะวันออก ที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมประเพณี และมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเหนียวแน่น จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชาวน่าน ถือเป็น "ทุนทางสังคม" ที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมของ จ.น่าน ก็ยังนับเป็นภาคประชาสังคมระดับจังหวัดรุ่นแรก ๆ ของประเทศไทย และยังยึดโยงทำงานในพื้นที่มาได้อย่างต่อเนื่องรุ่นแล้วรุ่นเล่า เพราะรู้จักเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาของตนเองมาโดยตลอด ดังนั้น การที่นำพระสงฆ์ สามเณร เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนกับชาวบ้านนั้น ไม่เพียงจะร่วมกับชาวบ้านแก้ปัญหา แต่ยังทำให้วัดและชุมชนยึดโยงกัน ไม่ตัดขาดจากกัน ซึ่งพระอาจารย์สมคิด บอกว่า


ทั้งหมดคือ…แนวคิด "ธรรมเป็นฐาน งานนั้นเป็นทุน บุญคือเป้าหมาย" จนเกิดเป็น "วิถีธรรม-วิถีพลเมือง" ขึ้น…เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของ "วิถีพัฒนา" แบบเมืองน่าน…ในที่สุด


เปลี่ยน 'ME' เป็น 'Active'


ที่ผ่านมามีการกล่าวถึงคนในยุคปัจจุบันว่า เป็น "Generation Me" ที่คิดแต่เรื่องตัวเอง สนใจแต่เรื่องตัวเอง พร้อมกับตั้งคำถามว่า คนเจเนอเรชั่นนี้จะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกได้หรือไม่? หรือทำอย่างไรจึงจะนำความเป็นตัวตนของคนรุ่นนี้มาใช้ในทางที่สร้างสรรค์ได้? จึงกลายเป็นที่มาของแนวคิด "Active Citizen" โดยเรื่องนี้ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ระบุว่า การบ่มเพาะให้เยาวชนเกิดสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม หรือแอ๊คทีฟ ซิติเซ็นนั้น ผู้ใหญ่ต้องเปิดพื้นที่ และสนับสนุน ด้วย


"พื้นที่ในที่นี้หมายถึง การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาทำงานร่วมกับคนรุ่นปัจจุบัน รวมถึงร่วมรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมไทย หรือในชุมชนของเขา เพราะถ้าเยาวชนรุ่นใหม่ไม่รู้ไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น สำนึกพลเมืองนี้ย่อมจะไม่เกิด สุดท้ายปัญหาต่าง ๆ ก็จะสะสมเพิ่มขึ้น และไม่มีปัญหาใดได้รับการแก้ไข"

Shares:
QR Code :
QR Code