จากใจหัวใจครูเด็กเร่ร่อนถึงวันครู
16 มกราคม วันแห่งการระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ วันที่หลายคนอาจหลงลืม หรือจดจำได้อย่างดี และบ่อยครั้งเช่นกันที่เมื่อกล่าวถึงวันครู ผู้ที่จะถูกนึกถึง ก็คือครูที่สอนอยู่ในระบบการศึกษา ครูที่สอนอยู่ในโรงเรียน แต่ครูที่สอนเด็กเร่ร่อนกลับมักไม่ได้รับการกล่าวถึงหรือระลึกถึงเท่าใดนัก
นายกรรจร เจียมรัมย์ ชาวบุรีรัมย์ที่ทำงานด้านเด็กและผันตัวมาเป็นครูสอนเด็กเร่ร่อนในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะเล็งเห็นความเหลื่อมล้ำ และความด้อยโอกาสของเด็กกลุ่มนี้ จึงเป็นสิ่งจุดประกายที่จะทำได้แค่ยืนมองหรือแค่เห็นใจ เขาจึงตัดสินใจก้าวมาเป็นครูสอนเด็กเร่ร่อนเหล่านี้อย่างเต็มตัว
ครูกรรจรหรือครูเหงา เล่าว่า ปัจจุบันนี้มีหน้าที่ดูแลและสอนเด็กกลุ่มด้อยโอกาสที่ประกอบด้วย กลุ่มเด็กพลัดถิ่น กลุ่มเด็กลี้ภัย อพยพ เด็กที่ทำงานอยู่ในสวนลิ้นจี่ ให้เข้ามาอยู่ในบ้านพักคุ้มครองเด็ก ในอำเภอแม่สาย ที่ตั้งห่างจากชายแดนประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อคุ้มครอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลการศึกษาให้เด็กได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับเข้ามายืนในสังคมได้อย่างสง่าผ่าเผย เลี้ยงดูครอบครัว เป็นคนดีของสังคมได้ โดยขณะนี้มีเด็กอยู่ในบ้านประมาณ 60 กว่าคน ตั้งแต่อายุ 1ขวบกว่าจนถึง 18 ปี โดยแบ่งเป็นเด็กเร่ร่อนประมาณ 10% เด็กที่อยู่ในกองขยะ 5%เด็กกำพร้า 50%และเด็กที่อยู่ตามสวนลิ้นจี่ ครอบครัวพลัดถิ่นหรือแรงงานอพยพ และอยู่ในภาวะเสี่ยงที่ถูกขายอีกจำนวนหนึ่ง ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้คือการขาดสัญชาติ ส่งผลต่อการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองเด็ก เช่น การเข้าโรงเรียนสู่ระบบการศึกษา ขาดการรับบริการทางรักษาพยาบาล และที่สำคัญคือการไม่มีตัวตนในระบบทะเบียนราษฎร์ จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องพยายามผลักดันเด็กเหล่านี้ให้เปลี่ยนไป
“เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะมาก เด็กกลุ่มนี้ไม่มีทางออก กลายเป็นเด็กที่สังคมไม่เอา และเรามีโอกาสเข้าทำงานกับเด็กกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดความเห็นใจ และคิดว่าเราน่าจะช่วยพวกเขาได้มากกว่านี้ มากกว่าที่ได้เห็น บ่อยครั้งเราเห็นเด็กเร่ร่อนกลับเข้ามายืนในสังคมได้อย่างสง่าผ่าเผย สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ และน้องได้ เด็กมีงานทำ เราก็รู้สึกเกิดกำลังใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของความภูมิใจนี้ แต่ที่ภูมิใจและประทับใจที่สุดคือได้เห็นเด็กที่เคยเป็นเด็กเร่ร่อน เขากลับมาทำหน้าที่คล้ายเราคือการกลับมาดูแลเด็กเร่ร่อนเหล่านี้”ครูเหงาบอก
แม้วันครู ทุกวันที่ 16 มกราคม เด็กในระบบการศึกษาจะถือพานพุ่มประดับดอกไม้ และมีการจัดงานระลึกถึงพระคุณของครู แต่สำหรับครูสอนเด็กเร่ร่อนอย่างครูเหงาแล้ว วันนี้ก็เหมือนวันปกติทั่วไป แต่นั่นไม่ได้กลับทำให้ครูเหงารู้สึกน้อยใจ เพราะครูเหงาบอกว่าแม้เด็กที่เขาสอนจะไม่ได้ทำเหมือนกับเด็กในระบบโรงเรียน เข้ามากราบไหว้มีพานดอกไม้แต่เขาก็สุขใจที่ได้ปรับเปลี่ยนให้เด็กเหล่านี้เกิดกระบวนการคิด เกิดการเรียนรู้ วันนี้จึงเป็นวันปกติเหมือนในทุกวัน แต่ถือเป็นวันดี ที่มี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เด็กเกิดการเคารพบุญคุณของครู
ครูเหงายังบอกด้วยว่าเขาเคารพอาชีพครูอย่างมาก เพราะอาชีพครูเป็นอาชีพที่เหมือนเป็นต้นแบบ และสร้างให้เด็กเป็นคนดี และคนเก่ง เขาจึงฝากไปยังคุณครูทุกคนให้ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็ก สอนให้เด็กคิดเป็นมากกว่าท่องจำ และที่สำคัญอยากให้ถอดหมวกของครูออกเมื่อก้าวเข้าสู่โรงเรียน และสวมหมวกของความเป็นพ่อเป็นแม่ รักเด็กเหมือนกับลูกของตัวเอง
“ผมนับถือคนที่ทำอาชีพครูและให้ความเคารพมาก และครูเป็นคนที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุด เด็กอยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าครูในแต่ละวัน ดังนั้นครูจึงเป็นต้นแบบสำคัญ ดังนั้น เมื่อเด็กก้าวเข้ามาอยู่กับครูในโรงเรียนแล้ว หากครูไม่ติดเพียงหมวกที่สวมเป็นครูเพียงใบเดียว แล้วถอดออก กลายเป็นพ่อแม่คนที่สอง เป็นครูที่มากกว่าครู บางครั้งครูเองก็ติดกรอบมากเกิน กลายเป็นช่องว่างระหว่างครูกับเด็ก จึงทำให้เกิดมิติเด็กออกกลางคัน โดยขณะนี้ต้องบอกว่าเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาขณะศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.1, ม.2 กว่า 50%เพราะระบบของโรงเรียนหรือไม่ที่เป็นกำแพงกั้นตรงนี้ โรงเรียนเองหรือไม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักเด็กออกจากระบบ จึงอยากฝากถึงคนที่เป็นครูให้ทำโรงเรียนเป็นแม่เหล็กเป็นแรงดึงดูดของเด็กให้ได้ ที่สำคัญหากเรามองดูแผนของประเทศในวันนี้ ที่มีเด็กและเยาวชนออกจากนอกโรงเรียนมากขนาดนี้ เราก็คาดเดาได้ว่าอีก 5 ปีประเทศไทยจะเป็นอย่างไร จะดูอนาคตก็ดูได้จากเด็กเหล่านี้ เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ เราสามารถตอบโจทย์ได้ว่าปี 2558 ประชาคมอาเซียนจะเกิดอะไรขึ้น เด็กอาจปรับตัวไม่ทัน และตกเป็นเหยื่อของสังคมจนกระทั่งพัฒนาตนเองเป็นผู้กระทำก็ได้”ครูเหงากล่าว
สุดท้ายครูเหงาได้ฝากไปยังหน่วยงานภาครัฐและทุกสถาบันหลักของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่เป็นจุดเริ่มต้นหลัก สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา และสื่อสารมวลชนให้ร่วมปรับเปลี่ยนและจริงใจกับการแก้ปัญหาที่เป็นจุดบกพร่องให้มากขึ้น เพื่อให้อนาคตของชาติในวันนี้ กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในวันหน้าต่อไป
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th