จากแปลงผักสู่จานข้าว สร้างคุณค่าผ่านอาหารชนเผ่า
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ปัญหาเรื่องหมอกควันทางภาคเหนือ ก็ยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มักถูกตั้งข้อสังเกต ในการสร้างมลพิษทางอากาศ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ต่างจากวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยเป็นมา
ดังนั้น สมัชชาอาหารชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้จัดงาน "เปลี่ยนจากจุด Hot Spot ให้เป็น Healthy Spot" ณ ศูนย์เรียนรู้พันธุกรรมพืชพื้นบ้านและเกษตรอินทรีย์ สวนฉันกับเธอ บ้านปางสา อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรณรงค์ให้กลุ่มชาติพันธุ์เห็นถึงคุณค่าการทำเกษตรกรรมดั้งเดิม
สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ทางกลุ่มจึงพยายามรณรงค์ ให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดำเนินวิถีชีวิตตามแบบดั้งเดิม ที่จะลดการเผาป่า และห่างไกลจากการใช้สารเคมี โดยรณรงค์ให้กินผักทุกมื้อ เพื่อที่จะลดการฉีดสารเคมีในแปลงผักของตนเอง ตามแนวคิด "ผลักดันให้ผักนำ กินผักทุกมื้อ"สิ่งที่เราทำคือ พยายามให้พี่น้องเปลี่ยนแนวคิดว่า การกินผักเป็นเรื่องล้าสมัย ให้เป็นเรื่องที่ทันสมัย เพราะนอกจากจะได้สุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและผู้อื่น ซึ่งการจัดงานเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ดำเนินงานมาทุกปี แต่ละปีจะมีประเด็นที่แตกต่างกันไป โดยปีนี้พยายามให้เห็นถึงเมนูดั้งเดิมของเผ่าตน และสร้างการตระหนักรับรู้ถึงผล กระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
การที่เราพยายามรณรงค์ให้กลุ่มชาติพันธุ์กินอาหารและปลูกผักตามแบบวิถีดั้งเดิม เพื่อมุ่งหมายให้เขาไม่ฟุ้งเฟ้อตามกระแสสังคม สามารถปลูกพืชแบบพึ่งพาตัวเองตามแนวทางเกษตรพอเพียง ซึ่งการดำเนินชีวิตของพี่น้องชนเผ่าแบบดั้งเดิมจะแฝงด้วยความโอบอ้อมอารี สิ่งนี้จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจ
"ที่ผ่านมาเด็ก ๆ ในหลายหมู่บ้านยังมีภาวะขาดสารอาหารที่เหมาะสม ทางกลุ่มพยายามเข้าไปในโรงเรียน เพื่อนำหลักโภชนาการที่เหมาะสมมาเปรียบเทียบว่า สิ่งที่มีในท้องถิ่นอะไรที่สามารถให้สารอาหารที่เหมาะสมแก่เด็ก แต่การจะสร้างความยั่งยืนเหล่านี้ได้ คนในชุมชนที่ทำการเกษตร ต้องรู้เท่าทันในการที่จะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์กินเอง มากกว่าจะไปพึ่งพารถขายสินค้าที่มาจากภายนอกชุมชน"
ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ถูกกระทำ จากการส่งเสริมในด้านการเกษตร และการสื่อสารต่าง ๆ ที่ทำให้หลายคนคิดว่าการทำการเกษตรแบบใหม่เหล่านั้นเป็นเรื่องที่ดี เช่น การปลูกข้าวโพด ที่ใช้สารเคมี โดยที่เรายังไม่รู้เท่าทันผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต
ดังนั้น การทำงานไม่ใช่แค่การออกกฎไม่ให้ชาวบ้านเผาอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาแนวคิดให้เกิดจิตสำนึก และหันมามองการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ที่จะขยายจากการทำงานของตัวเอง ไปถึงหมู่บ้าน และในชุมชนในภาพรวม โดยมิติของอาหารพื้นถิ่นจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันมาเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเคมี มาเป็นอินทรีย์มากขึ้น
เช่นในประเพณีกินข้าวใหม่ ที่จะมีการทานอาหารที่หลากหลาย เราพยายามทำให้ชาวบ้านเห็นว่าอาหารที่หลากหลายมีได้เพราะเราทำเกษตรแบบยั่งยืน ไม่ใช่เกษตรแบบสารเคมี ที่บนที่แปลงหนึ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบเดียวกันทั้งหมด
ซึ่งประเพณีกินข้าวใหม่ จะมีทั้งหัวเผือก มัน กลอย ข้าวโพด แตง และอื่น ๆ พืชเหล่านี้จะมาจากพื้นที่ไร่เดียวกันทั้งหมด เป็นวิถีการผลิตที่พึ่งพาตัวเอง ต่างจากการใช้สารเคมีที่เราเรียกว่า การปลูกพืชแบบไร้ญาติ คือปลูกข้าวก็ได้ข้าวอย่างเดียว ไม่มีพริก หรือฟัก แฟงอยู่ในไร่ข้าว สิ่งนี้เราพยายามให้ชาวบ้านตระหนักถึงชีวิตดั้งเดิมที่มีความหลากหลายของพืชพันธุ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
ชูพินิจ เกษมณี สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย เล่าว่า ถ้ามองย้อนไป 40 ปี พี่น้องชนเผ่าจะมีเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองเยอะมาก ผมเคยไปวิจัยโดยการนับในไร่ข้าวแปลงเดียวมีเมล็ดพันธุ์กว่า 86 ชนิด โดยพืชแต่ละชนิดมีหลายสายพันธุ์ เช่นข้าว และข้าวโพดก็ไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียว ต่อมารัฐก็มีการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเงินสด ที่ส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด กะหล่ำปลี มะเขือเทศ
หรือบางพื้นที่มีนายทุนเข้าไปส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกขิง เมื่อปลูกไปนาน ๆ และใช้สารเคมีซ้ำ ๆ ในที่เดิม ก็ทำให้เกิดโรคในดิน จนพื้นที่นั้นไม่สามารถปลูกขิงได้อีกต่อไป นี่คือผลพวงของการพัฒนาที่เข้ามา จนทำให้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นของชาวบ้านค่อย ๆ หายไป
การทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี เช่นการปลูกข้าวโพด ถ้าปลูกในแปลง เล็ก ๆ ก็มีโอกาสขาดทุนมาก แต่ถ้าปลูกในพื้นที่กว้าง ๆ ก็จะชดเชยผลผลิตที่ไม่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นก็ต้องถางป่าเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก แต่ถ้ามองให้ดีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ชาวบ้านก็ไม่ได้กำไรอะไร เพราะปีนี้ได้กำไร ก็ไปชดเชยกับปีที่แล้วที่ขาดทุน แล้วต้องไปกู้เงินมาซื้อเมล็ดพันธุ์และสารเคมีต่าง ๆ
ดังนั้นการฟื้นฟูเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมจึงเป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางโภชนาการของชาวบ้าน และพันธุ์พืชท้องถิ่นบางอย่างจะกลับมา ซึ่งพืชบนดอยสิ่งที่ขาดคือ การศึกษาพืชท้องถิ่นด้านการโภชนาการ จึงเป็นอีกความท้าทายในการทำงานด้านโภชนาการในอนาคต การรื้อฟื้นวิถีดั้งเดิม ส่วนหนึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ที่ต้องมีการเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ สร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย.