จากเสียงสู่ความสงบ จุดนัดพบเพื่อเยียวยา

ฟื้นฟูและให้กำลังใจ

จากเสียงสู่ความสงบ จุดนัดพบเพื่อเยียวยา

 

          ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงของการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาเมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นภาพแห่งความเจ็บปวดที่คนไทยหลายคนยังจำติดอยู่ในความทรงจำ หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครตกอยู่ในสภาวะวิกฤตท่ามกลางเสียงปืนและการไล่รื้อและเผาตึกรามบ้านช่อง

 

          “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” หนึ่งในสถานที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักที่ถูกทำลายย่อยยับทั้งการเผาตึกและการยิงด้วยอาวุธปืนหลากหลายชนิด และถึงแม้วันนี้เหตุการณ์จะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้วหากแต่ซากปรักหักพังของอาคารหลากหลายแห่งที่ถูกเผา และรอยกระสุนปืนที่ทิ้งร่องรอยให้เห็นตามตัวอาคารบ้านเรือนต่างๆ กลับเกาะกินใจของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอย่างไม่เคยเลือนหาย

 

          ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นให้ได้รับความสงบสุขกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

 

          แผนงานสถาบันการศึกษาสาธารณสุขสร้างเสริมสุขภาพ(สอส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และมหาวิทยาลัยมหิดล   เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมดีๆ ขึ้นที่สวนสันติภาพภายใต้ชื่อ “จากเสียงสู่ความสงบ” หรือ sound of silent เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาบาดแผลที่เกาะกินอยู่ภายในจิตใจของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

 

          ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการ สอส.กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ให้เราฟังว่า

 

          มหาวิทยาลัยมหิดลของเราก็อยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุที่อนุสาวรีย์แห่งนี้เราจึงเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่าพี่น้องที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เจ็บปวดแค่ไหน หลายคนอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากถึงจะกล้าออกมาจากบ้านเพื่อดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขได้ ดังนั้นหน้าที่ในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ให้กลับมามีพละกำลังในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาระหน้าที่ที่พวกเขาตั้งใจและพร้อมที่จะทำ  ซึ่งการจัดงานของเราในครั้งนี้มีหลายกิจกรรมมากที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและให้กำลังใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

 

          รูปแบบของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้นั้นมีหลากหลายรูปแบบอาทิการเล่นดนตรีสลับกับการเสวนา การเล่านิทานเพื่อพัฒนาด้านจิต การทำเข็มกลัดการวาดภาพ พร้อมทั้งมีซุ้มของการตรวจสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจในเบื้องต้น รวมถึงฝึกสอนในการเล่นโยคะเพื่อบำบัดจิตใจอีกด้วย โดยกิจกรรมต่างๆ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะซุ้มรับปรึกษาสภาพจิตใจ

จากเสียงสู่ความสงบ จุดนัดพบเพื่อเยียวยา

 

          อาจารย์นภาพร โสวัฒนางกูร นักจิตวิทยาสุขภาพภาคสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลเล่าให้เราฟังว่า ประชาชนหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นยังมีสภาพจิตใจที่ค่อนข้างหวาดกลัวและหวาดระแวง บางคนบ้านอยู่ใกล้ๆ กับห้างที่ถูกเผา และหลายคนเห็นคนถูกยิงตายต่อหน้า จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเข้ามาเลือกใช้บริการของซุ้มเรา สิ่งที่เราทำก็คือเราได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับสภาพจิตใจให้หลายคนที่มาปรึกษาเราสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

 

          “หลายคนเกิดความเครียดมาก หลายคนถึงกับโกรธแค้นหลายฝ่ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็เข้าไปช่วยเยียวยาให้เขาเปิดใจให้กว้าง ค่อยๆ รับฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างมีสติ ให้เขาหากิจกรรมนันทนาการที่ผ่อนคลายความตึงเครียด  ซึ่งเรามองว่ากิจกรรมที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชนที่บริเวณนี้คือกิจกรรมกลุ่มที่คนในชุมชนและครอบครัวจะได้ร่วมกันทำพลังของความรักของคนในชุมชนและครอบครัวก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งกิจกรรมที่เรานำมาทำในครั้งนี้นั้นจะเป็นกิจกรรมต้นแบบที่จะขยายสู่ชุมชนต่อไปด้วย”นักจิตวิทยาสุขภาพภาคสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าว

 

          ด้าน คุณวัชรา(นามสมมุติ) หนึ่งในชาวบ้านย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่เข้าร่วมกิจกรรม “จากเสียงสู่ความสงบ” และเข้าร่วมขอคำปรึกษาเกี่ยวกับสภาวะจิตใจเปิดเผยกับเราว่า”บ้านของพี่อยู่ติดกับที่ที่เขาเผากันเลย เราไม่กล้าออกไปไหนอยู่กัน 3 คนพ่อแม่ลูก เสียงปืนก็ดังทุกวัน คนอื่นเขามีบ้านญาติให้ไปพัก เราไม่มีเราก็ต้องอยู่ในบ้านด้วยความกลัว ทุกวันนี้เป็นคนขี้ระแวงไปแล้วเวลามีเสียงดังที่ไหนเราจะตกใจง่ายกลัวมาก คุณหมอเขาก็แนะนำหลายอย่างให้เราผ่อนคลายจิตใจและทำให้สบายใจขึ้นพี่อยากให้หน่วยงานต่างๆ มาจัดกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ นะเพราะมันเหมือนมีคนรับฟังเรา และทำให้เราได้ระบายความอึดอัดได้”คุณวัชรากล่าว

 

          ความรู้สึกของคุณวัชราคงไม่ต่างไปจากความรู้สึกของคุณยายมนต์หญิงชราอายุ 75 ปีที่เข้าร่วมกับกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบพร้อมทั้งขึ้นไปร่วมครวญเพลงให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประทับใจไปตามๆ กัน คุณยายมนต์กล่าวว่า”ยายก็ตามข่าวเอาจากทีวี ตอนเกิดเหตุยายก็อยู่ในบ้านได้ยินแต่เสียงปืน ความจริงแล้วยายก็เชียร์ข้างหนึ่งอยู่ในใจนะ แต่ยายว่าเรื่องของการเมืองมันเป็นเรื่องที่น่าจะพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ข้างไหนหรือรักข้างใดก็ไม่น่าที่จะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่น่าจะมีการเผาไม่น่าจะมีการยิง ยายอยากให้ทุกคนรักกันเราคนไทยเหมือนกัน ตึกรามบ้านช่องมันพังไปมันก็บูรณะขึ้นใหม่ได้แต่จิตใจคนถ้ามันพังมันเยียวยากันนานและยากยายไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกเลย”  หญิงชรากล่าว อย่างไรก็ตาม  ณ ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เราต้องมองไปข้างหน้าร่วมกัน คือการสร้างเสียงจากจิตใจของคนไทยทุกคนให้ได้พบกับความสงบ ความสุข และความรักในความเป็นคนไทยอย่างแท้จริง เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่มีสถานที่ไหนที่เราจะอยู่ได้อย่างมีความสุขเท่าที่บ้านอันสงบสุขของเราเอง

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

 

update: 10-06-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

 

Shares:
QR Code :
QR Code