จากพื้นที่เคมี สู่พื้นที่สุขภาพ ถอดรหัสฟาร์มสร้างสุข
ที่มา : แนวหน้า
ภาพประกอบจาก สสส.
พื้นดินในภาพนี้มีพื้นที่ 30 ไร่ อยู่บริเวณคลอง 13 จังหวัดปทุมธานี ที่หลายคนมองว่าเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการปรับปรุงพัฒนา เพราะเป็นพื้นที่เคมีและ พื้นที่ดินเปรี้ยว ซึ่งได้บริจาคให้กับ โครงการ ฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี จนปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวได้รับการพัฒนากลับกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในการทำเกษตรอินทรีย์ และให้ผลผลิตที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพแก่คนไทยเป็นอย่างยิ่ง ภายในพื้นที่ 30 ไร่ แบ่งออกเป็นปลูกไม้ยืนต้น 5 ไร่ ปลูกผักและอื่นๆ 10 ไร่ เป็นพื้นที่นา 5 ไร่ และพื้นที่น้ำ 10 ไร่ ซึ่งบริเวณ ดังกล่าวมีพื้นที่อาคารอเนกประสงค์ แปลงสาธิต โซนปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด เล้าเลี้ยงไก่ บนแคร่ และแปลงผักสวนครัว
นางสาวรัตน์ปราณี กรมไทยสงค์เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญประจำฟาร์ม ทำหน้าที่ เป็นทั้งที่ปรึกษาของฟาร์มและช่วยบริหารจัดการภาพรวมภายในฟาร์ม ที่เข้ามาเริ่มต้น ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่แรก เล่าให้ฟังว่า เราพยายามแก้ปัญหาเรียนรู้เพิ่มเติมมาเรื่อยๆ โดยใช้หลักเกษตรประณีต คือ ทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด มาถึง วันนี้เห็นต้นไม้ทุกอย่างมันใหญ่ขึ้น ดินดีขึ้น ทุกอย่างพัฒนาขึ้นทั้งหมด เห็นทีไรเราก็รู้สึกภูมิใจต่อความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ภารกิจของคณะ มี 3 ด้าน ได้แก่ การฝึกอบรมบุคลากรออกไปรับใช้สังคมในด้านการแพทย์ หากไปรักษาสุขภาพ เพียงอย่างเดียวไม่ใช่การเป็นหมอที่ดี ดังนั้น การเข้าใจระบบเกษตรของประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ เป็นงานวิจัยที่ต้องทำร่วมกับเอกชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภารกิจสุดท้าย คือมีหน้าที่ให้การบริการวิชาการ โครงการฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี คือการสร้างความรู้และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ชุมชน รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยหวังว่า การพัฒนาในครั้งนี้เป็นประโยชน์และเป็นส่วนเสริมให้รามาธิบดี เป็นคณะแพทย์ชั้นนำในระดับสากลต่อไป
โครงการฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี เป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับปรุง พัฒนาเพื่อนำผลผลิตส่งต่อไปสู่ผู้ป่วย และ บุคลากร โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้มีโอกาส เข้าถึงอาหารที่ปลอดสารเคมี
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ที่มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ ผ่านการ ทำปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงนั้นคือ อาหาร โดย สสส. ต้องดูตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง คือตั้งแต่ ฟาร์มจนถึงปาก ไม่ได้ทำเพียงลดหวานมันเค็มเท่านั้น แต่ดูที่ต้นทางที่จะสามารถพัฒนาให้เกิดแหล่งปลูกผักผลไม้ที่ปลอดภัย อยู่ในระบบเกษตรได้อย่างสมดุล ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อ ให้เกิดฟาร์มยั่งยืนและเพิ่มผลผลิต ให้มากกว่านี้ โดยในระยะต่อไปเราจะขยายแนวคิดนี้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อนำไปสร้างพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและไร้ประโยชน์ ให้สามารถเอามาปลูกผักผลไม้เพื่อที่จะบริโภคได้ เช่น ฟาร์มสร้างสุขแห่งนี้
ดร.นรีมาลย์ นีละไพจิตร ผู้รับผิดชอบโครงการฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี กล่าวว่า เบื้องต้นได้ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรง วรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี และ ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน คือ พ่อคำเดื่อง ภาษี มาร่วมด้วยช่วยกันช่วยแก้ไขและปรับพื้นที่ โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ดูแล พื้นที่ จะเป็นคนในชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน ส่วนใหญ่ และผลผลิตที่ได้จะนำเข้าครัวรามาธิบดี เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้กับ ผู้ป่วยต่อไป ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ เรากำลัง บรรจุสิ่งเหล่านี้เข้าไปในวิชาหลักของ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะมองว่าใช้เกษตรเป็นทางผ่านในการ ให้เขาเหล่านั้นเรียนรู้ชีวิต และได้ถอดบทเรียน ก่อนให้พวกเขาลงไปสู่การทำงานจริง
โครงการฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี นอกจากจะสร้างผลผลิตแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา องค์กร และประชาชนทั่วไป ในการปลูกผักและสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็น ต้นแบบและกำลังใจสำคัญ ให้อีกหลายๆ พื้นที่ที่ต้องการใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์อีกด้วย