จากป่าสู่เมือง จากธรรมชาติ สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน

ทันกระแสสุขภาพ : จากป่าสู่เมือง จากธรรมชาติ สู่สุขภาวะยั่งยืน

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) สรุปรายงานความเสี่ยงโลกในมิติสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2565 ที่ปรากฏทั้งมุมมองความเสี่ยงระยะสั้นและระยะยาว 5 ใน 10 อันดับ ที่น่ากังวลมากที่สุด โดยวัดจากความรุนแรง (severity) คือ ประเด็นในมิติสิ่งแวดล้อมหรือ “สุขภาวะของโลก” (health of the planet) ที่มมีความเสี่ยงที่รุนแรงมากที่สุด 3 อันดับแรก ล้วนเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่เป็นภัยคุกคามต่อโลกใบนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้าทั้งสิ้น หากสำรวจความพยายามของนานาประเทศในการลดความเสี่ยง เชื่อว่าปัจจุบันยังดำเนินการที่น้อยเกินไป 

                    กล่าวสำหรับประเทศไทย ในสถานการณ์ที่เห็นได้ชัด คือ การเกิดปรากฏการณ์ ลานีญา ตั้งแต่ในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักชุก อันเป็นต้นเหตุให้เกิด ผลกระทบต่อสุขภาวะ และเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น อุทกภัยมากมาย

                    จากรายงานสรุปภาวะอากาศทั่วไปในรอบปี พ.ศ. 2565 ของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า “…มีปริมาณฝนรวมที่สูงกว่าค่าปกติ  ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2565 มีไฟป่าเกิดทั้งหมด 51,265 ครั้ง รวมพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ 892,309 ไร่ โดยส่วนหนึ่งเกิดมาจากฝีมือมนุษย์  ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศผืนป่า และยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเรื่องของเศรษฐกิจ ไปถึงเรื่องของสุขภาวะคนเมืองอีกด้วย

                    ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยยกรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก World Economic Forum ปี 2565 เป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดใน 3 อันดับแรกของโลก และในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ คือ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

                    กล่าวด้วยว่า เห็นได้จากในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาปรากฏการณ์ลานีญา ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของไทย ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เฉพาะภาคเหนือติดอันดับเมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกหลายวันติดต่อกัน

                    สสส. เข้าสู่ปีที่ 21 เราคลุกวงในมากขึ้นในการที่จะแก้ปัญหาต้นทาง  ด้วยปรัชญา สร้างนำซ่อม’ เพื่อที่จะทำให้เรามีภูมิต้านทานทางสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย  เรามองถึงการสร้างศักยภาพชุมชนกับการสร้างพื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการประสานกับภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคสื่อสาร ภายใต้องค์กรหลักภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมขับเคลื่อนงานไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี

                    ดังนั้น พิธีบันทึกความร่วมมือการสนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนใน  8 หน่วยงานภาคี เมื่อวันนี้ 7 กรกฎาคม 2566  ประกอบด้วย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมป่าไม้, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช., ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าประเทศไทย (RECOFTC – Thailand),  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, มูลนิธิชุมชนไท, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนชุมชนที่จะขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศร่วม จึงมีความสำคัญ

                    นั่นคือ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ชุมชนมีอาชีพ-มีรายได้-ลดโลกร้อน นำร่องขับเคลื่อนป่าชุมชนทั่วประเทศปีแรก 15  แห่ง  ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี  ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทางสังคมจำนวน 21 ล้านบาทเศษ

                    ทั้ง 7 หน่วย จะเป็นกลไกขับเคลื่อนร่วมชุมชนจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมโครงการป่าชุมชน โดยทำงานตามฐานทรัพยากรของพื้นที่ หนุนเสริมกลไกบริหารจัดการด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดการสร้างรายได้ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากป่าชุมชน ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของป่าที่มากกว่าสิ่งแวดล้อมที่มีมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสุขภาพอย่างยั่งยืนด้วย ดร.ชาติวุฒิ กล่าว   

                    นายบรรณรักษ์  เสริมทอง  รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า  กรมป่าไม้รู้สึกยินดีและภูมิใจที่พี่น้องประชาชน เครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคสังคมต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยดูแลรักษาป่า

                    ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชน 12,117 แปลงทั่วประเทศ มีหมู่บ้าน 13,855 แห่งเข้ามาร่วมเนื้อที่รวม 6.64 ล้านไร่ จากการประเมินประชาชนได้รับประโยชน์จากป่า 3,948,675 ครัวเรือน เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ จำนวน 4,907 ล้านบาท กักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน รวม 42 ล้านตันคาร์บอน กักเก็บน้ำในดินและการปล่อยน้ำท่า 4.562 ล้านลูกบาศก์เมตร และการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศน์ของป่า 595,857 ล้านบาท

                    ซึ่งกรมป่าไม้มีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนเป็น 15,000 แปลง  เนื้อที่ 10  ล้านไร่ภายในปี 2570  สิ่งที่จะทำให้ไปสู่ความสำเร็จได้ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ผ่านมามีกิจกรรมปลูกป่าเสร็จแล้วกลับไป ไม่มีใครดูแล ป่าไม่มีทางรอด จะรอดได้ต้องมีพี่น้องชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ เข้ามาดูแล ขณะเดียวกันก็จะต้องได้รับประโยชน์จากการดูแลป่า เช่น เรื่องการท่องเที่ยว  การนำผลิตผลจากป่าไปใช้อย่างถูกกฎหมาย  และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

                    นายเดโช  ไชยทัพ  ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (พอช.) กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญเพราะเป็นวันเริ่มต้นของการสานพลัง  เพราะกฎหมายป่าชุมชนเจตนารมณ์เป็นกฎหมายของสังคม  สังคมจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้  จะต้องมาร่วมเกื้อกูลสนับสนุนขีดความสามารถของชุมชน  องค์กรที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้จะต้องมาเป็นแกนหลัก  ภาคีธุรกิจ เอ็นจีโอต่าง ๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมผนึกกำลังสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้ยั่งยืน พอช.สนับสนุนการจัดตั้งทั่วประเทศ โดยเราจะสร้าง ‘ครู ก’ ขึ้นมาจากสภาองค์กรชุมชนฯ

                    ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวมีใจความสรุปว่า  พอช. และภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนามในวันนี้ จะทำเรื่องฝายมีชีวิต โดยใช้เครื่องมือง่ายๆ เช่น  ไม้ไผ่  กระสอบทราย  พอทำแล้วน้ำจะซึมลงใต้ดิน  ทำให้ผืนดินมีความชุ่มชื้น  ต้นไม้  ผลไม้ก็จะออกลูกตลอดทั้งปี  รวมทั้งจะทำเรื่องป่าชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน เป็นป่าชายเลนชุมชน

                    ต่อไปมีโครงการทำธนาคารปูม้า กุ้ง หอย ปู ปลา นำมาเพาะพันธุ์แล้วปล่อยลงไปในลำคลอง  ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์  เป็นแหล่งอาหาร  แหล่งท่องเที่ยว พี่น้องมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

                    สสส. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งต่าง ๆ จากต้นน้ำ และมุ่งมั่นมองหาโอกาสในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีขึ้นจากทุกสิ่งรอบตัว เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน มีรายได้ที่มั่นคง และมีกำไรจากสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างถาวร ทั้งในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code