จากบทความ อ.ป๋วย ถึงเยาวชนคนรัก “หนังสั้น”
กว่าร้อยชั่วโมงที่เยาวชนคนรักหนังสั้น 53 ชีวิตได้มารวมตัวกันด้วยกิจกรรมเวิร์คช็อปหนังสั้นจากบทความ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ผลงานการเขียนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีผู้กำกับมืออาชีพมาถ่ายทอดเทคนิคการทำหนัง พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจกับเพื่อนๆ วัยใกล้เคียงที่รักในสิ่งเดียวกัน เป็นแนวทางก่อนกลับไปผลิตหนังสั้นในแบบฉบับของตนเอง ก่อนฉายจริงในงานเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ที่อิมแพค เมืองทองธานี 24-26 มี.ค.นี้
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป (คสป.) กล่าวกับเยาวชนทั้ง 12 ทีมที่เข้ารอบและได้ร่วมเวิร์คช็อปในโครงการ การประกวดหนังสั้น “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ว่า รู้สึกชื่นชมเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างยิ่ง ถ้าหากอาจารย์ป๋วย อิ๊งภากรณ์ มองดูอยู่และเห็นว่าเยาวชนคนรุ่นหลังที่ได้อ่านบทความบทนี้ของท่านแล้วนำมาทำให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์มากมายให้กับสังคมโดยเฉพาะการทำหนังสั้นในครั้งนี้ อาจารย์ป๋วยคงภาคภูมิใจ เพราะเหตุผลที่ท่านเลือกจะเป็นนักคิดนักเขียน แทนที่จะไปเป็นนักการเมืองเพราะเห็นว่า การเขียนสิ่งดีๆ ให้คนได้อ่านนั้นสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ เยาวชนกลุ่มนี้ก็เช่นกัน พวกเขากำลังก้าวมาเป็นอีกส่วนหนึ่งในการนำเรื่องราวดีๆ มาเผยแพร่ให้คนในสังคมได้เห็นในตามฉบับของตนเอง ที่จะเกิดเป็นการสื่อสารใหม่ เกิดมุมมองใหม่ให้แก่คนในสังคม อีกทั้งจะสร้างพลังที่จะสื่อสารให้คนในวัยเดียวกันหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
ด้านนายนิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ หรือพี่กังฟู หนึ่งในพี่เลี้ยงตัวแทนผู้กำกับจากกลุ่มอัศจรรย์ภาพยนตร์สะท้อนว่า ตนยอมรับว่าน้องๆ ทั้ง 12 ทีม เป็นเยาวชนกลุ่มใหม่ที่น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้วงการหนังสั้นมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร้ขีดจำกัด โดย 4 ปีที่ผ่านมา กระแสของการเรียนภาพยนตร์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าวงการหนังในประเทศมีผู้กำกับหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งตนเชื่อว่าจากบททั้ง 12 เรื่องที่ผ่านการคัดเลือกจะเป็นบทที่ดี มีไอเดีย มีความน่าสนใจสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นหนังสั้นที่ดีได้ และไม่แน่ผู้กำกับหน้าใหม่ที่จะมาประดับวงการหนังในอนาคตอาจจะเป็นผู้กำกับรุ่นเยาว์เหล่านี้ก็ได้
“เทคนิคสำคัญที่ทำให้หนังสั้นเรื่องนั้นๆ “โดนใจ” คนดูอยู่ที่ “ความประทับใจแรก” ที่ผู้กำกับมีต่อหนังสั้นเรื่องนั้นๆ ผสมผสานกับความพยายาม มุ่งมั่น ถ้าเยาวชนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงตรงนั้นได้ เชื่อว่าเส้นทางที่เยาวชนทั้ง 53 คนนี้จะก้าวไปสู่ผู้กำกับหนังจะอยู่แค่เอื้อม” นายนิติวัฒน์ บอก
ขณะที่นางสาวธัญมน ปุญญธรพัฒนะ หรือน้องจุ๋มจิ๋ม นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล จ.ฉะเชิงเทรา จากหนังสั้นเรื่อง “หวัง” บอกว่า ตนและเพื่อนๆ ชอบในหนังสั้นอยู่แล้วเมื่อรู้ว่ามีโครงการนี้จึงรีบกระโดดมาเข้าร่วมทันที เพราะรางวัลสำหรับพวกตนนั้นไม่ได้อยู่ที่เงินรางวัลเลยแต่เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากในห้องเรียน อีกทั้งยังมีพี่ผู้กำกับชื่อดังของเมืองไทยมาสอนเทคนิคดีๆ ให้มากมาย น้อยคนนักที่จะมีโอกาสแบบนี้ เมื่อมีโอกาสแล้วจะทำให้ดีที่สุด
ขณะที่นายปิติพงษ์ ปิติจะ หรือน้องดั้ม นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จากหนังสั้นเรื่อง “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” กล่าวว่า ตนรู้สึกภูมิใจที่ผ่านเข้ารอบ เพราะสิ่งที่คาดหวังนอกจากรางวัลสักชิ้นที่เกิดขึ้นจากการตั้งใจทำหนังอย่างสุดความสามารถแล้ว ประสบการณ์ที่ได้รับยังเป็นการจุดประกายให้ความฝันนั้นอยู่ใกล้มากขึ้น ไม่แน่ 1 ใน 53 คนของเวิร์คช็อปครั้งนี้อาจมีใครก้าวไปสู้การเป็นผู้กำกับมืออาชีพเช่นเดียวกับพี่ๆ ในวันนี้ก็ได้…
หลังจากนี้ผลงานของเยาวชนทั้ง 12 เรื่องจะโชว์ศักยภาพกันเต็มที่แน่นอนในงานเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติที่อิมแพค เมืองทองธานี วันที่ 24-26 มี.ค.นี้ ซึ่งนั่นอาจเป็นสถานที่แจ้งเกิดของ “ผู้กำกับดาวดวงใหม่” มาประดับวงการหนังสั้นไทยให้พัฒนาขึ้น จนกลายเป็นอุตสาหกรรมหนังไทยที่มีคุณภาพเฉกเช่นฮอลลีวูดก็ว่าได้…
แต่ไม่ว่าการประกวดครั้งนี้จะมีทีมใดเป็นผู้ชนะ แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 12 เรื่องมีเหมือนกันคือการสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของ อ.ป๋วย ที่ต้องการจุดประกายให้เกิดการปฏิรูปสังคมไทย ซึ่งไม่แน่เมื่อได้ดูหนังฝีมือเยาวชนเหล่านี้แล้ว… คนในสังคมจะตื่นตัวเรื่องสิทธิที่ตนควรได้รับเพิ่มขึ้นก็เป็นได้…
ที่มา : แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส.