จับมือผู้ให้บริการเดลิเวอรี่วางแนวทางจัดส่งอาหารปลอดภัย
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
แฟ้มภาพ
เชิญกลุ่มธุรกิจเดลิเวอรี่ ร่วมหารือวางแนวทางจัดส่งอาหารปลอดภัย ลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ชี้หากมีข้อตกลงมาตรการป้องกันความเสี่ยงในทิศทางเดียวกันก็จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนมากขึ้น
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งอาหาร ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยมี นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย และหน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กทม.จึงได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวไปแล้ว 3 ฉบับ โดยสั่งปิดสถานที่รวม 26 ประเภท เพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่งมีผลเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งอาหาร จึงเชิญผู้ประกอบธุรกิจหารือแนวทางการปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ และพนักงานขนส่งอาหารเดลิเวอรี่
ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนแนวทางการลดค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจได้รับไปเสนอต่อผู้บริหาร โดยกทม. พร้อมสนับสนุนการสอนทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้แก่ผู้ประกอบการในกรณีที่พนักงานขนส่งไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยแบบ Surgical Mask ไม่ได้
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติประชาชนนิยมสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว สำหรับในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ ประชาชนจะสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่มากยิ่งขึ้น จึงรู้สึกมีความห่วงใยเนื่องจากพนักงานขนส่งของแต่ละบริษัทมีจำนวนมาก และรูปแบบการป้องกันความเสี่ยงของแต่ละบริษัทก็ต่างกัน หากมีการปนเปื้อนเชื้อจะทำให้การแพร่ระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้หากทุกบริษัทมีข้อตกลงร่วมมือกันป้องกันความเสี่ยงเป็นไปในทิศทางเดียวกันจะสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีให้แก่ภาพลักษณ์ผู้ประกอบการด้วย อาทิ
-พนักงานขนส่งทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัย หากหาแบบ Surgical ไม่ได้ ให้ใช้หน้ากากอนามัยผ้าทดแทน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
-ผู้ประกอบการควรหมั่นตรวจวัดไข้พนักงานขนส่งโดยควรตรวจวัดไข้ทุกวันก่อนออกให้บริการ
-บางบริษัทที่พนักงานขนส่งไม่ได้เข้ามาที่บริษัท ให้บริษัทหาจุด check in สำหรับการตรวจวัดไข้
-หากเป็นไปได้ควรรับชำระเงินให้ใช้ระบบ e-payment เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสธนบัตรและเหรียญ
-ด้านเทคโนโลยีระบบติดตามตัว (tracking) ก็นับว่ามีความสำคัญ หากมีการติดเชื้อจะสามารถติดตามได้ว่าพนักงานขนส่งเดินทางไปพบหรือสัมผัสใครบ้าง
-กล่องสำหรับใส่อาหารที่ติดตั้งท้ายรถจักรยานยนต์ควรหมั่นทำความสะอาดทุกครั้งที่มีการส่งสินค้า เพื่อกำจัดเชื้อโรคอันเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคด้วย
ทั้งนี้ กทม. อยากให้กลุ่มผู้ประกอบการได้หารือร่วมกันและดำเนินการให้ครบถ้วน รวมทั้งต่อยอดการดำเนินการป้องกันการระบาดของโรค ในอนาคตหากทุกคนละเลยจนเกิดการระบาดของโรคจนถึงระดับที่ต้องประกาศปิดเมือง ทุกบริษัทย่อมได้รับผลกระทบหรืออาจต้องปิดกิจการ