“จับความสุข” ส่งต่อให้พนักงาน สิ่งสำคัญ ผู้บริหารต้องรู้

หลักสร้างสุขในที่ทำงาน ของเผ่าทอง ทองเจือ

 

“จับความสุข” ส่งต่อให้พนักงาน สิ่งสำคัญ ผู้บริหารต้องรู้            การสร้างความสุขในการทำงานมีปัจจัยสำคัญในการสัมผัสจากประสบการณ์ของตัวเองสำหรับ เผ่าทอง ทองเจือ อดีตคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันนี้ลาออกจากราชการมามีความสุขในการทำธุรกิจของตัวเอง นั่นคือเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าไทย ออกแบบ ตัดเย็บฝีมือคนไทยรากหญ้าจริงๆ มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดลำพูน

 

            เมื่อพูดถึงความสุข เผ่าทอง หรืออาจารย์แพนของลูกศิษย์ และคนในสังคมซึ่งนิยมเรียกบอกว่า การจัดรูปแบบและบริหารองค์กรให้สามารถ “จับความสุข” ส่งต่อให้พนักงาน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคนบริหารต้องรู้ว่า จะจัดวางอย่างไร

 

            อย่างอาจารย์แพน ใช้วิธี นั่งทำงานรวมอยู่กับลูกน้องในห้องรวม ที่ไม่มีฝาผนังเป็นอุปสรรคกั้นสายตา และหัวใจ จากที่เคยอยู่บริษัทซึ่งอุดอู้ แต่เข้าใจว่าบริษัทจำเป็นต้องมีระเบียบมีความเป็นสัดส่วน ต่างกับการจัดการเรื่องเสื้อผ้า ตัวเองจะนั่งทำงานอยู่กับเขา เพื่อให้รู้ว่าขาดเหลือ และต้องการอะไร อย่าง แอร์คอนดิชั่นเย็นไหมเป่ารดศีรษะหรือไม่ จะทำให้คนนั้นทำงานไม่สะดวก ตรงไหนใกล้ถังขยะใกล้ห้องน้ำ เหม็นไหม อย่างนี้ ถ้าเรานั่งอยู่ในห้อง ก็จะไม่มีวันรู้สารทุกข์สุขดิบของลูกน้องเรา

 

            ฉะนั้น สิ่งที่องค์กรต้องจัดความสุข ให้อาหารการกินที่ดีต้องครบหมู่กินให้อิ่ม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นวิธีที่ดูแลซึ่งไม่ได้มีอะไรพิเศษ เป็น happy body ที่ต้องทำให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจสภาพแวดล้อมก็สำคัญ ที่โรงงานปลูกต้นไม้ ดอกไม้หลากหลายชนิดมาก

 

            ส่วนใหญ่เป็นไม้กินมากกว่า ไม้หอม เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด ขิง ข่า ฯลฯ ตามแนวรั้ว ซึ่งอาจเกินไปสำหรับความเป็นโรงงาน แต่นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเราเองมีความสุขด้วย เลี้ยงสัตว์ นก หนู ปลา กระต่าย ไก่ฟ้า ฯลฯ ปล่อยให้วิ่งเล่นตามธรรมชาติในสวน สภาพแบบนี้ช่วยทำให้เราผ่อนคลายต่อสิ่งต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เป็น happy relax ที่ไม่ต้องขวนขวายหาเช่นคนในเมือง

 

            อีกอย่าง ตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ดังนั้น นิตยสารทั้งหลายก็จะมีติดในสำนักงาน โรงงาน ทำตู้หนังสือใส่ไว้ เพื่อเพิ่มเติมเสริม happy brain ให้ลูกน้องได้ศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่างๆ เพียงแต่ขอร้องว่า อ่านแล้วให้เก็บเข้าที่เดิม

 

            การสร้างบรรยากาศในสถานที่ทำงาน จึงเป็นตัวช่วยสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความสุข นำไปสู่ผลงานที่ดี อาจารย์แพน ย้ำในสิ่งที่คิดว่านายจ้างต้องจัดหาให้พนักงานหรือคนในองค์กร ผมเรียกว่าเป็นเพื่อนร่วมงานมากกว่า เราดูแลลูกน้องเหมือนคนในครอบครัว เขาเจ็บป่วยเราก็พาไปรักษาเป็นความสุขใจคุณภาพชีวิตของคนทำงานที่ต้องใส่ใจหาความสุข มีหลายต่อหลายคนอาจจะทำงานเพราะไม่มีทางเลือกอันนั้นเป็นความเศร้าและความซวยของชีวิต เพราะไม่มีโอกาส ตัวเองพยายามหาโอกาสที่จะเลือกได้ โดยเฉพาะต้องเป็นผู้เลือกเสมอ ไม่ยอมเป็นคนถูกเลือก ความสุขที่ได้ทำงานในสิ่งที่รักและชอบจึงเกิดขึ้น ถือว่าตัวเองโชคดี หากงานไม่สามารถสร้างความสุขให้เรา เมื่อนั้นจะรู้สึกเบื่อหน่ายงานประจำ เป็นความซ้ำซากจำเจ แต่เมื่อคนเรามีความสุข สุขนั้นย่อมช่วยส่งผลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงคนรอบข้าง ย่อมเกิด happy heart

 

            “ผมนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็อ่านพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ตั้งแต่ดิโอเทรดเม้นท์ ดิสมิวเทรดเม้นท์อ่านจนหมด ไปถึงคัมภีร์โกหร่าน พยายามทำความเข้าใจและเอามาใช้ เพราะทุกออฟฟิศ บางสถานที่ทำงานเราเป็นนาย บางออฟฟิศเราเป็นลูกน้อง ฉะนั้นจะให้พอใจเรา 100% เป็นไปไม่ได้ แต่ตราบใดที่เรายังอยากได้เงิน ออฟฟิศที่เราเป็นนายจึงต้องวางตัวเป็นนายที่ดีกับลูกน้อง” เป็นมุมมองสากล บนหลักศาสนา

 

            พร้อมกับเสริมว่า หากเราคิดใช้หลักธรรมของศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม มารวมกัน ศาสนาคริสต์บอกว่า เขาตบหน้าซ้ายให้ยื่นแก้มซ้ายแก้มขวาให้ตบทั้งสองแก้ม ดูสิว่าจะตบเราทั้งสองแก้มไหม ศาสนาอิสลามเองมีหลักธรรมที่ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ศาสนาพุทธก็บอกว่าอย่าไปยึดติด อย่าถือเขาถือเรา ให้ทำใจเป็นอุเบกขา นั่นคือ happy soul ศรัทธาในศาสนาและศีลธรรม

 

            เราจึงเป็นผู้ใหญ่ที่ลูกน้องวางใจ เพราะฉะนั้น การจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานมันต้องมาจากใจข้างในของเรา ทำให้ทุกอย่างให้รู้สึกรื่นรมย์ไม่ใช่ยาขม ว่าต้องตื่นเช้าเข้าออฟฟิศแล้วเหมือนติดคุกติดตะรางอย่างให้ความรับผิดชอบมีผลกระทบต่อจิตใจ ตรงจุดนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวเรา ครอบครัว คนรอบข้างและสังคม อย่างที่หลายคนลืมคิด

 

            เมื่อนึกย้อนกลับมา ทำให้เรากลายเป็นคนนิ่งที่สุด เป็นเพื่อนร่วมงานที่มีสติยามมีปัญหา ก็จะเป็นคนกลางไปเจรจากับเพื่อนร่วมงาน เพื่อช่วยคลี่คลายความเดือดเนื้อร้อนใจ นิ่ง เช่น อุเบกขา ย่อมช่วยให้เราชนะปัญหา อุปสรรคได้แน่

 

 

 

 

 

ที่มา :  หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

 

update 10-09-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code