จับครีมหน้าเด้ง อวดอ้างเกินจริง
อย. เตือน-อันตราย!
อย.จับมือตำรวจกอง บังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ทลายร้านขายครีมหน้าเด้ง และอาหารเสริมปลอมทางอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ ยึดของกลางกว่า 2 พันชิ้น พบไม่ผ่านการรับรองขึ้นทะเบียนจาก อย. ดำเนินคดี 5 ข้อหารวด เตือนคนใช้อย่าหลงกลโฆษณาชวนเชื่อ ระวังอันตราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอมจำนวน 30 รายการ ประมาณ 2,000 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 5 แสนบาท
พล.ต.ต.จตุรงค์กล่าวว่า ขณะนี้ตำรวจได้มีหน่วยงานเฉพาะ มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับผู้บริโภคทุกประเภท โดยจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จับกุม ผู้กระทำผิดลักลอบผลิตยา เครื่องสำอาง และอาหารเสริมปลอมมูลค่าหลายล้านบาท ล่าสุด ได้รับการประสานจาก อย.เพื่อจับกุมผู้ลักลอบผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมปลอมผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือว่าเป็นการจับกุมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง สามารถยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก
ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าร้านค้าชื่อ beautifulshoponline มีการจำหน่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอมผ่านทางระบบขายตรง และอินเตอร์เน็ต โดยมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จึงได้ร่วมกับ บก.ปคบ. เข้าตรวจค้นร้าน beautifulshoponline พบเครื่องสำอางสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยี่ห้อ “vasane” จำนวนหลายรายการ เช่น เครื่องสำอางครีมทาหน้า ลดฝ้า ทำให้หน้าขาวใส ผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมวิตามินเร่งปรับสภาพผิวขาว เป็นต้น
เลขาธิการ อย. กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องสำอางบางรายการ เป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมปลอม คือใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตที่มิใช่ความจริง จากการนำเครื่องสำอาง ครีมสมุนไพรลดฝ้า “vasane” มาทดสอบเบื้องต้นกับชุดทดสอบ เพื่อหาสารห้ามใช้ ปรากฏว่าพบไฮโดรควิโนนและกรดวิตามินเอ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฉลากระบุมีส่วนผสมของ l-glutathione (แอล-กลูตาไทโอน) ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. จึงจับกุมพร้อมยึดของกลางประมาณ 2,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 5 แสนบาท มาดำเนินคดี
สำหรับความผิดของคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. จะดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่าย ใน 5 ข้อหา คือ ขายเครื่องสำอางปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงชื่อ ที่ตั้งผู้ผลิต ไม่แสดงวันเดือน ปี ที่ผลิต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ขายอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันถึง 1 แสนบาท
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อและซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือยา ผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการโฆษณาชวนเชื่อโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรืออ้างว่ามีคุณภาพดีกว่าสินค้าอื่นๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งในความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่มีคุณภาพ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และบางอย่างก็ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. นอกจากทำให้ผู้บริโภคสิ้นเปลืองเงินทองแล้ว ยังไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้าง มิหนำซ้ำอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้นๆอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือพบการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556 เพื่อ อย.จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตาม กฎหมายต่อไป
เรียบเรียงโดย: อัญณิกา กฤษสมัย
update: 06-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย