จัด 7 แผนรับเหตุฉุกเฉินที่ อ.กันทรลักษณ์

จัด 7 แผนรับเหตุฉุกเฉิน ส่งทีมแพทย์ดูแลสุขภาพกาย-จิตผู้อพยพที่ อ.กันทรลักษณ์ ใกล้ชิด เฝ้าระวังป้องกันโรคในจุดอพยพชั่วคราว กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังโรคติดต่อจุดอพยพประชาชนใกล้ชิด


จัด 7 แผนรับเหตุฉุกเฉิน ส่งทีมแพทย์ดูแลสุขภาพกาย-จิตผู้อพยพที่ อ.กันทรลักษณ์


วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ทันทีที่เกิดการปะทะกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งศูนย์อำนวยการด้านการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมอบหมายให้ นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานศูนย์ มีคณะทำงานจากทุกกรมและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ประสานงานกับกรมแพทย์ทหารบกมาร่วมทำงานด้วยกัน ซึ่งหลังจากมีการตั้งศูนย์ฯ ได้สั่งการไปยังโรงพยาบาลตามแนวชายแดนทั้งหมดให้มีการเตรียมความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ให้นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางลงพื้นที่ตั้งแต่วันเสาร์ และวานนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2554) ได้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเดินทางลงพื้นที่จนถึงขณะนี้และรายงานความคืบหน้าให้ทราบตลอดเวลา            


นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ระบบบริหารจัดการที่จะเข้าไปดูแลผู้บาดเจ็บจะใช้โรงพยาบาลกันทรลักษณ์เป็นฐานด่านหน้า ขณะนี้ได้ปรับเป็นโรงพยาบาลฐานด่านหน้าทางทหารแล้ว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และมีโรงพยาบาลแม่ข่ายในการประสานงานรับส่งต่อ เช่น โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ของกองทัพด้วย สำหรับการเตรียมพร้อมทั้งหมดขณะนี้ได้เตรียมสำรองทีมศัลยแพทย์ไว้แล้ว 3 ทีม จากโรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี หมุนเวียนไปประจำที่โรงพยาบาลกันทรลักษณ์ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นได้สำรองเลือดซึ่งมีความพอเพียง สำรองห้องผ่าตัดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเครือข่าย รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลระบบสนับสนุนอื่น ๆ เช่นระบบไฟฟ้า ระบบวิทยุสื่อสาร


นอกจากนี้ ยังดำเนินการในเรื่องแผนงานรับเหตุฉุกเฉินให้มีความพร้อมตลอดระยะเวลา ทั้งหมด 7 แผน ได้แก่ 1.แผนการป้องกันสถานพยาบาล 2.แผนการให้บริการประชาชนในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ 3.แผนการให้บริการประชาชนในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข 4.แผนดูแลด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีผู้อพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงเป็นจำนวนมาก ขณะนี้คาดว่ามีประมาณ 6,000 คน 5.แผนการใช้ อสม.ช่วยดูแลระบบสุขภาพอนามัยในศูนย์พักพิง 6.แผนการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และ 7.แผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือโรคระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคที่เกิดจากแมลงต่าง ๆ เช่นยุง แมลงวัน


สำหรับที่ศูนย์พักพิง กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และหน่วยปฐมพยาบาลไปให้บริการทุกจุด รวมทั้งมีหน่วยสุขภาพจิต จากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี อาการด้านสุขภาพจิต ส่วนใหญ่จะมีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ ได้ให้ยาคลายประสาท โดยมีผู้มารับการตรวจคัดกรอง 1,165 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้รับยา 22 ราย และรับคำปรึกษา 49 ราย ส่วนโรคทางกายส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ยังไม่พบโรคอุจจาระร่วง นอกจากนี้ได้ส่งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา จากกรมสุขภาพจิต ลงไปดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายแล้ว


ทางด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ทำการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในจุดอพยพของประชาชน ที่ อ.กันทรลักษณ์ เนื่องจากประชาชนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้มาลาเรีย กรมควบคุมโรคได้ส่งมุ้งชุบสารเคมีป้องกันยุงกัดจำนวน 300 หลัง ยาทากันยุง 5,000 ซอง เจลล้างมือแอลกอฮอล์ 2,000 หลอด และหน้ากากอนามัย 3,000 ชิ้น และให้สำนักงานป้องกันโรคที่จังหวัดอุบลราชธานีดูแลใกล้ชิด


 


 


ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


 

Shares:
QR Code :
QR Code