จัดแพทย์โรคหืดลงพื้นที่ ลดแอดมิดได้40%
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย โดยปีนี้ยังคงชูเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยโรคดังกล่าวที่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้น้อยลงมากที่สุด
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายฯ เผยว่า โรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่คุกคามชีวิตคนไทยอย่างน่ากลัว จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในอดีตมีผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคหืดเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปี พ.ศ.2538 มีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลถึง 66,679 ราย เมื่อถึงปี พ.ศ. 2554 เพิ่มเป็น 112,961 ราย ขณะที่ในปี พ.ศ.2540 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหืด 806 คน ปี พ.ศ.2546 เสียชีวิต 1,697 คน โดยมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่ต้องรับการรักษาฉุกเฉินปีละกว่า 1 ล้านคน และแนวโน้มจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ มลภาวะ ฝุ่นในอากาศ ควันพิษส่งผลให้ผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสที่จะเป็นโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ ซึ่งแนวโน้มจะขยายเข้าสู่วัยเด็กมากขึ้น
ด้วยสถิติข้างต้น เครือข่ายฯ จึงมุ่งลดจำนวนผู้ป่วยโรคดังกล่าว พร้อมได้รับการสนับสนุนจากสปสช. ส่งเสริมให้ทีมแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรของโรงพยาบาลเครือข่ายกว่า 900 แห่ง ร่วมกันทำคลินิกรักษาในท้องถิ่น แล้วสำรวจคัดกรองและทำการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ยังไม่มีอาการรุนแรง ให้สามารถคุมโรคเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมา ลดผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ร้อยละ 40
ด้าน พญ.ญาดา สมานชัย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม หนึ่งในโรงพยาบาลเครือข่าย และปีครั้งนี้ได้รับเลือกให้เป็นโรงพยาบาลที่ชนะเลิศ ผลงานพัฒนาแนวทางการรักษา เผยว่า จากประสบการณ์ลงพื้นที่ออกตรวจผู้ป่วย หัวใจสำคัญที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล คือการรุกเข้าไปตรวจ รักษา และให้ความรู้ผู้ป่วยถึงชุมชน เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หากพบการลงพื้นที่ของทีมแพทย์โรงพยาบาลเครือข่ายควรเข้ามารับการตรวจรักษา กรณีที่ต้องรับยาพ่นเสตียรอยด์ ทางสปสช.ก็ได้สนับสนุนยาดังกล่าวมาแล้วด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์