จัดฝึกทักษะความปลอดภัย ให้เด็ก 6 – 10 ปี
ที่มา : บ้านเมืองออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพและบ้านเมืองออนไลน์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ มหิดลฝึกทักษะความปลอดภัย สำหรับเด็กวัย 6 – 10 ปี
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ มหิดล ฝึกทักษะความปลอดภัย สำหรับเด็กวัย 6 – 10 ปี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายอยู่ตลอดเวลา โดยในเด็กวัย 6 – 10 ปี มักเล่นห่างไกลจากพ่อแม่ เล่นกันเป็นกลุ่ม จึงต้องส่งเสริมให้มีทักษะในการอยู่รอดปลอดภัยด้วยตนเอง 10 ทักษะ อาทิ ทักษะความปลอดภัยในการเดินทางและเดินเท้า ทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำด้วยวิธีการ "ตะโกนโยนยื่น” วิธีการสวมเสื้อชูชีพที่ถูกต้อง ทักษะความปลอดภัยภายในบ้านและการอยู่บ้านคนเดียว ทักษะความปลอดภัยสนามเด็กเล่น ทักษะการปฐมพยาบาลและการกู้ชีพเบื้องต้น รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ด้านการใช้สื่อที่ปลอดภัย เป็นต้น จะเห็นได้ว่านอกจากผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังแล้ว จะดีกว่าไหมหากเราสามารถปลูกฝังองค์ความรู้ และทักษะเพื่อความปลอดภัยต่าง ๆ ให้กับเด็ก ๆ เพื่อเป็นการระมัดระวังตัวเองในเบื้องต้นอีกด้วย
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะความปลอดภัยในเด็กดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “10 ทักษะความปลอดภัย ก่อน 10 ปี ต้องมี 10 อย่าง” สำหรับเด็กวัย 6 – 10 ปี เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ทักษะและประโยชน์สูงสุดกับตัวเด็ก ๆ ต่อไป
“ก่อนหน้านี้เราทำเป็น “ค่าย 10 ทักษะความปลอดภัย” ใช้เวลา 2 – 4 วัน มาปีนี้เราย่อส่วนให้เหลือเป็นห้อง แล้วให้เด็กมาเข้าฐาน โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “The Safety Hunter ภารกิจพิชิตจุดเสี่ยง” ซึ่งเป็นการสอน การสาธิต ภายใต้กลไกการเล่น เพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ ใช้เวลาจากเป็นวันเหลือห้องละ 50 นาที โดยมี 3 ฐาน ซึ่งก็คือ ฐานความปลอดภัย ฐานปฐมพยาบาล และฐานเกมสมอง ให้เด็กได้เล่นหมุนเวียนกันไป สามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น สนุกสนานมากขึ้นในเวลาที่สั้นลง ซึ่งห้องดังกล่าวก็กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบว่าจะสามารถสร้างการเรียนรู้ของเด็กได้มากน้อยแค่ไหน และการกระจายไปสู่ภูมิภาคก็ทำได้ง่าย กรณีที่ได้ผลที่ดีแล้ว เราก็จะกระจายผลออกไปสร้างเป็นแพคเกจให้แต่ละที่เอาไปทำตามได้เลย แม้แต่ระดับโรงเรียน หรือ อบต. ก็สามารถที่จะยกเอาไปทำเองได้ในพื้นที่แคบ ๆ โดยเราจะมีการฝึกคนให้ไปคุมห้องเหล่านี้ให้ด้วย” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าว
ความพิเศษของกิจกรรม คือ การใช้การเล่นเป็นฐาน เพื่อให้เรียนรู้ไปอย่างสนุกสนาน ซึ่งไม่ใช่เอาไว้ทดลองเพื่อถ่ายทอดเรื่องความปลอดภัยสู่ตัวเด็กเท่านั้น แต่ยังมีจุดประสงค์สำคัญ คือ การเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลชั้นปีที่ 2 ขึ้นไปจากทุกคณะ มาเข้ารับการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครผู้นำกิจกรรมประจำฐาน โดยนักศึกษาอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งจะดูแลเด็กประมาณ 12 คน ในเวลา 3 ชั่วโมง ผ่าน 3 ฐาน โดยใช้เวลาฐานละ 50 นาที ซึ่งนักศึกษาอาสาสมัครทุกคนจะต้องเล่นเป็นทุกฐาน สรุปเป็น แล้วก็ควบคุมเด็กได้ ให้เด็กสนุกได้กับการเล่นที่ทั้งยากบ้าง ง่ายบ้าง แล้วแต่กลุ่ม เด็กที่เข้ามาก็จะมีทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษ ซึ่งเราไม่ได้มีข้อห้ามให้เข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากมักพบว่าเด็กในกลุ่มหลังมีการประเมินความเสี่ยงผิดพลาด จำเป็นต้องได้เข้ารับการอบรมด้วย ขณะนี้มีนักศึกษาเข้ามาสมัครเป็นอาสาสมัครผู้นำกิจกรรมแล้วประมาณ 40 คน โดยตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป นักศึกษาอาสาสมัครจะเริ่มปฏิบัติงานในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยก่อนหน้านี้นักศึกษาต้องมาเข้าอบรม ฝึกการใช้ ฝึกเล่นเกมเพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ก่อน โดยสถาบันฯ มีการจัดอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้ 3 รอบ นักศึกษาคนไหนพร้อมแล้วก็จะให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เลย ส่วนนักศึกษาคนไหนยังไม่พร้อมก็จะให้ฝึกต่อ
ซึ่งประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับ คือ การได้ฝึกเป็นจิตอาสา ได้ฝึกทักษะทำงานกับเด็ก และได้รับประกาศนียบัตรด้วย นายยศพนธ์ ศรีศักดาราษฎร์ หรือ "บอส" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมอบรมเป็นอาสาสมัครผู้นำกิจกรรม Safety Hunter เล่าถึงเหตุผลในการมาเป็นอาสาสมัครว่า ปกติเวลาอยู่ที่คณะมีโอกาสได้ทำกิจกรรม ได้สอนเด็ก ๆ เล่นกีฬาอยู่แล้ว เลยมีความสนใจว่าเราจะทำอย่างไรให้พัฒนาเขาได้ พอเห็นทางสถาบันฯ มีโครงการดี ๆ ก็เลยตัดสินใจมาเข้าร่วม โดยที่ตัวเองมีพื้นฐานในเรื่องการสอนกีฬา สอนว่ายน้ำ นำกิจกรรมเด็ก ซึ่งจากการได้เป็นอาสาสมัครในครั้งนี้ เราสามารถที่จะเป็นสื่อกลางในการนำความรู้ที่ได้ไปกระจายต่อให้เด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่อยู่ในชุมชน เด็กในหมู่บ้าน หรือเด็กที่มาร่วมกิจกรรมกับเรา ให้เขาได้ประโยชน์ ได้นำกลับไปใช้ที่บ้านได้ หรือเมื่อตอนมีเหตุจำเป็น ก็สามารถใช้เพื่อเอาชีวิตรอดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีสอนน้อยมากในโรงเรียน
นางสาวกัญญาภัทร แก้วเกษ หรือ "เนย" นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมอบรมเป็นอาสาสมัครผู้นำกิจกรรม Safety Hunter บอกถึงความคาดหวังในมาเป็นอาสาสมัครว่า จะได้มีความรู้ในเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ซึ่งบางเรื่องผู้ใหญ่ก็ไม่รู้ โดยนอกจากเราจะสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปสอนเด็ก ๆ ได้ เรายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สอนตัวเองได้เช่นกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราจะได้สามารถช่วยคนอื่นได้ด้วย ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมเพราะตัวเองเป็นคนชอบเด็ก และอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอม
สื่อการเรียนรู้เพื่อการฝึก “10 ทักษะความปลอดภัย” ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บางส่วนได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Safe Kids Worldwide ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำเรื่องความปลอดภัยในเด็ก นอกจากนี้เริ่มมีภาคเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนมากขึ้น ทั้งในเรื่องการพัฒนาเกมทดสอบทางสมอง และการให้ sponsorship กับนักเรียนให้มาเข้าร่วมกิจกรรม
“ตอนนี้เราได้ออกแบบวิชาเลือกของ การศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (มมศท.) ในระดับปริญญาตรี ออกมาหนึ่งหลักสูตร ชื่อว่า "การออกแบบชีวิต" โดยนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหิดลทุกสาขาสามารถมาลงเรียนได้ แล้วก็พยายามพัฒนา "ผู้นำการเล่น" (Play Worker) และ "นวัตกรการเล่น" (Play Innovator) ให้เป็นหลักสูตรทั่วไปที่ให้คนนอกได้สมัครเรียนกันได้ในเร็วๆ นี้ด้วย โดยหลักสูตรจะมีหลายระดับ ระดับทั่วไปคือ “ผู้นำการเล่น” แต่ระดับสุดท้ายจะเป็น “นวัตกรการเล่น” ซึ่งเป็นผู้ออกแบบการเล่น ด้วยแนวคิดที่ว่าการพัฒนาเด็กไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียน หรือศูนย์เด็กเท่านั้น แต่ควรจะเกิดขึ้นได้ทุกที่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ สวนสนุก ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ฯลฯ ซึ่งทุกคนสามารถที่จะช่วยกันพัฒนาเด็กในชุมชนของตนเองได้ ด้วยการใช้ธุรกิจ หรือโครงสร้างต่าง ๆ ของตนเองเป็นแหล่งพัฒนาเด็ก” รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวเสริม
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ The Safety Hunter ภารกิจพิชิตจุดเสี่ยง ฝึก “10 ทักษะความปลอดภัยก่อน 10 ปีต้องมี 10 อย่าง” มีทั้งในวันทำการ และวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 2 รอบ รอบละ 3 ชั่วโมง รอบเช้า 09.00 – 12.00 น. รอบบ่าย 13.00 – 16.00 น. ฝึกเป็นหมู่คณะ รอบละอย่างน้อย 36 คน ไม่เกิน 45 คน จัดกิจกรรม ณ ชั้น 5 อาคารปัญญาวัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ค่าลงทะเบียน 350 บาท/คน/รอบ (รวมอาหารว่าง 1 มื้อ) โดยวันธรรมดา มีผู้สนับสนุนเหมารอบให้สถาบันฯ ไปรับนักเรียนจากโรงเรียนมาทำกิจกรรม ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะเป็นรอบของผู้ปกครอง ซึ่งขณะนี้จองเต็มแล้วถึงเดือนกันยายน 2562ขอเชิญชวน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และผู้สนใจ ส่งนักเรียน และบุตรหลานของท่าน เข้ามาเรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดเพื่อความปลอดภัยของเด็กในระดับอนุบาล 3 – ประถมศึกษาปีที่ 3 โดยติดต่อได้ที่ โทร. 0-2441-0601-10 ต่อ คุณศุภรดา 1417, 1422 เบอร์มือถือ 092-4145296 (วันและเวลาราชการ) FB: สถาบันเด็กมหิดล บริการวิชาการสู่สังคม หรือ FB: NICFD Mahidol