จัดการน้ำครบทุกมิติ ที่ เกาะขันธ์

ที่มา : หนังสือเกาะขันธ์จัดการตนเอง เรื่องโดย กฤตตฤณ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


จัดการน้ำครบทุกมิติ ที่ เกาะขันธ์ thaihealth


ต่อเนื่องมาในปี 2555 และ 2556 เกิดภัยแล้งขึ้นในตำบลเกาะขันธ์ คณะกรรมการพัฒนาตำบลเกาะขันธ์จึงหันมาขับเคลื่อนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นที่การจัดการน้ำ เพราะส่งผลกระทบถึงเรื่องการจัดการภัยพิบัติและเศรษฐกิจชุมชน ด้วยตำบลเกาะขันธ์เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล


จากการทำงานร่วมกัน คณะกรรมการพัฒนาตำบลเกาะขันธ์พุ่งเป้าไปที่การทำฝาย เมื่อช่วยกันวิเคราะห์แล้วพบว่า ตำบลเกาะขันธ์ต้องการฝายทั้งหมด 52 จุด


“ปี 2557 เราทำฝายตัวแรกเป็นฝายกระสอบทรายที่บ้านลานนา หมู่ที่ 3 หลังจากนั้นไม่นานก็มาทำตัวที่ 2 หลังวัดบ้านไม้เสียบ แล้วปี 2558 เราลุยสร้างฝายกระสอบทรายอีกเกือบ 30 ตัว” อาโกเมศร์ ทองบุญชู ลำดับให้ฟัง


ฝายที่เกิดขึ้นทั้งหมดส่งผลอย่างน่าอัศจรรย์ตั้งแต่ปีแรก เพราะฝายแต่ละแห่งคืนความชุ่มชื้นให้แก่ดิน จนผลไม้ ‘ปรัง’ ออกมากขึ้น ปรังในที่นี้หมายถึงหนึ่งปี ผลไม้ออกสองครั้ง โดยออกทันทีหลังจากฤดูเก็บผลผลิตปกติสิ้นสุดลง ต่างจาก ‘ทวาย’ ซึ่งเป็นการบังคับให้ผลไม้ออกนอกฤดู


ฝายทุกแห่งเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน รวมถึงการเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวคนละเล็กละน้อย และความที่อาโกเมศร์มีเครือข่ายกว้างขวาง จึงส่งโครงการไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เพื่อของบประมาณสร้างฝายคอนกรีตจำนวน 8 ตัว แต่ได้รับการตอบรับมา 2 ตัว คือที่บ้านไม้เสียบ 1 ตัว และบ้านควนดินแดง 1 ตัว ซึ่งนับว่าช่วยเหลือได้มาก


งบที่ได้มาเป็นงบวัสดุ อาศัยชาวบ้านช่วยกันลงแรง ต่อมาในปี 2559 รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณตำบลละ 5 ล้านบาทมายังท้องที่โดยตรง และงบประชารัฐอีก 250,000 บาท หลังจากประชาคม จึงเกิดฝายหิน ปัจจุบันตำบลเกาะขันธ์มีฝายทั้งหมด 46 ตัว ขาดอีกเพียง 6 ตัว ก็จะครอบคลุมความต้องการ


“วันนี้ แทบทุกแปลงได้รับการรับรองว่ามีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agriculture Practices: GAP เพราะเรามีการจัดการน้ำที่ดี ดินเลยดี ผลผลิตก็ดีตาม” อาโกเมศร์กล่าวเสริม


จากเรื่องฝาย มาสู่เรื่องน้ำดื่ม โดยใช้งบประมาณของกองทุนหมู่บ้าน ที่รัฐบาลให้มาหมู่บ้านละ 500,000 บาท


“เราเห็นแล้วว่าน้ำดื่มสำคัญ ทั้งในยามปกติและยามประสบภัย บ้างทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 6 เริ่มต้นก่อน ทำน้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยขายถูกกว่าปกติถัง 20 ลิตร ขายแค่ 5 บาท ถูกกว่าร้านค้าที่ขายถังละ 12 บาท แล้วหมู่ที่ 10 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 9 และ หมู่ที่ 7 ก็ตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นอันจบปัญหาน้ำดื่ม เหลือหมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 ที่ไม่ได้ทำ แต่มาใช้กับหมู่บ้านใกล้เคียงได้” อาโกเมศร์เล่า


จากนั้นจึงบอกว่า ได้จัดเตรียมพาผมไปเที่ยวชมฝาย และไปดูเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นหลังการทำฝาย…

Shares:
QR Code :
QR Code