จัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไม้กวาด ของป่า หนทางแห่งความอยู่รอดของบ้านห้วยน้ำเค็ม

 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของบ้านห้วยน้ำเค็ม หมู่ 11 ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ตั้งตัวอยู่บนพื้นที่สูงเชิงเขา ผู้คนตั้งบ้านเรือนตามทางลาดไหล่เขาและร่องหุบ โดยมีทางหลวงหมายเลข 304 ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรสายสำคัญที่ตัดเชื่อมระหว่างภาคอีสานกับภาคตะวันออก ตัดผ่านพื้นที่ของหมู่บ้าน

ครั้งหนึ่งนั้น พื้นที่บ้านห้วยน้ำเค็มนี้ เคยมีที่ราบซึ่งเกิดจากการจับจองแผ้วถางเป็นที่ทำกิน เพื่อใช้ปลูกพืชไร่ ทำสวนตามวิถีทางแห่งการดำรงชีวิต กระทั่งวันหนึ่ง เส้นทางแห่งการอนุรักษ์ได้เวียนเข้ามา พื้นที่ดังกล่าวถูกทางราชการขอคืน เพื่อนำไปใช้ปลูกป่า ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตชีวิตในหมู่บ้าน ทำให้ผู้คนบ้านห้วยน้ำเค็ม ต้องปรับเปลี่ยนวิถีทางแห่งการดำรงชีพ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เร่ง แป้นสำโรง หรือพี่เร่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยน้ำเค็ม เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนบ้านห้วยน้ำเค็มเป็นพื้นที่ราบส่วนหนึ่ง ราวพันไร่ ผมเองก็ทำไร่ไปตามวิถีของเกษตรกร แต่ด้วยความที่พื้นที่นี้ติดภูเขา ทั้งภายหลังมีอุทยานฯ เข้ามา ชาวบ้านที่เคยทำไร่ต้องปรับเปลี่ยนมาทำอย่างอื่นเลี้ยงชีพแทน น้อยคนนักที่ยังไม่ไร่ เพราะสภาพพื้นที่อยู่บนที่สูง ภูเขาขนาบแบบนี้ ผมเอง เท่าที่จำได้ ก็ไม่ได้ทำไร่มากว่า 30 ปีแล้ว”

หลายคนเรียกบ้านห้วยน้ำเค็มว่า ‘หมู่บ้านไม้กวาด’ ซึ่งชื่อเรียบง่ายนี้ อธิบายหนทางแห่งความอยู่รอดของชาวบ้านในเบื้องต้น โดยหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านห้วยน้ำเค็มได้ยึดอาชีพการทำไม้กวาดขายริมทางหลวง กลายเป็นแหล่งรายได้ส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวห้วยน้ำเค็มสามารถเอาตัวรอดในพื้นที่ได้

นิตยา บุญทศ หรือพี่ต้อย ผู้ผลิตไม้กวาดคุณภาพ ขายอยู่ริมทางหลวงสาย 304 บริเวณบ้านน้ำเค็มเล่าถึงอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวเธอให้ฟังว่า “พี่ทำไม้กวาดมา ถึงทุกวันนี้ ก็ยี่สิบกว่าปีแล้วนะ ถามว่าดีไหม ดี ถ้าเราขยันนะ อยู่ที่นี่มันไม่อดหรอก ลำบากก็แต่ว่า เดี๋ยวนี้วัตถุดิบคือดอกพงที่เราใช้ทำไม้กวาดมันหายากขึ้นทุกวัน ต้องเข้าป่าลึกกว่าเคย บางคนเขาเลิกหาเอง เปลี่ยนมาจ้างคนไปหาให้แทน”

เมื่อได้ดอกพงมาแล้ว ก็ทำการแกะ หลังจากนั้นจึงนำไปตากให้แห้งสัก 3-4 แดด มัดเป็นกำเพื่อสวมติดกับด้าม คลี่ออกโดยใช้ฝีมือและความชำนาญ จากนั้นจึงมัดด้วยเชือก ซึ่งการประกอบนี้ ทำได้หลายวิธี อย่างพี่ต้อยเองก็ทำได้หลายรูปแบบ ทั้งยังใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถขึ้นงานไม้กวาดได้หนึ่งชิ้น

ด้าน ฉลวย วงศ์อิน หรือพี่หลวย ก็นับเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตไม้กวาดจำหน่ายให้กับผู้สัญจรผ่านไปมา “พี่เคยนะ เข้าเมืองตามเพื่อนเขาไป เราอยากเห็นนะ เขาว่าดีเราก็ไป ไปทำงานรับจ้าง งานโรงงาน พอได้ไปสัมผัสจริงๆ แล้ว มันไม่เหมือนอย่างที่เขาพูด สุดท้ายตัดสินใจกลับมาบ้าน มาทำอะไรที่บ้านเราดีกว่า อาชีพดั้งเดิมของเรานี่ละ ทำไม้กวาดนี่สามารถทำให้เราอยู่ได้สบายๆ เลย แล้วเรายังได้อยู่กับครอบครัว อากาศ อาหารการกินมันดีกว่าเราไปอยู่ที่อื่นเยอะ”

หากแต่ในช่วงเวลานี้ (กันยายน) ของบ้านห้วยน้ำเค็ม กลับมีสีสันแห่งความอยู่รอดที่เวียนมาอีกครั้ง ตามที่ชาญ วรรณศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุดมทรัพย์เล่าให้ฟัง “ตอนนี้อยู่ในฤดูของการเก็บเห็ด โดยที่บ้านห้วยน้ำเค็มจะคึกคักที่สุด ด้วยพื้นที่เป็นป่า มีเห็ดมากหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดโคน เห็ดระโงก เห็ดตระไคล เก็บแล้วก็เอามาขายริมทางหลวง ซึ่งเห็ดนี้ได้ราคาดี ตกกิโลกรัมละ 200 บาท โดยแถวนั้นจะชี้จุดด้วยเลขบนหลักกิโลเมตร เพราะบ้านห้วยน้ำเค็มหาที่ราบไม่ค่อยเจอ”

ดังนั้น ริมทางหลวงหมายเลข 304 ตั้งแต่หลักกิโลเมตร 72 ไล่ไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 83 ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลอุดมทรัพย์ จะเห็นร้านรวงเพิงพักที่ใช้เป็นทั้งที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยริมสองฝั่งทาง โดยมีสินค้าหลักเป็นไม้กวาด และเห็ดนานาชนิดที่เก็บจากธรรมชาติ

กระนั้น ใช่ว่า หนทางแห่งการอยู่รอดของบ้านห้วยน้ำเค็มจะมีเพียงเท่านี้ เพราะยังมีอีกหลายเส้นร่างบนทางเส้นเดิมที่ยังประโยชน์ให้ชาวบ้านห้วยน้ำเค็มได้ต่อยอดเป็นหนทางในการดำเนินชีวิต

นวลจันทร์ ดีสันเทียะ หรือพี่อ้วน ซึ่งพื้นเพเป็นคนอำเภอสีคิ้ว หากแต่ย้ายเข้ามาทำกินในพื้นที่มานานกว่า 25 ปี โดยพี่อ้วนได้ใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากผู้เป็นแม่ ด้วยการทำหน่อไม้ดองขาย ซึ่งสินค้าของพี่อ้วนสามารถเห็นได้ตามร้านสองฝั่งทาง ที่ช่วยในการกระจายสินค้า แต่ตลาดใหญ่ของพี่อ้วนอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว

“แม่เราเป็นคนอำเภอสีคิ้ว ขายหน่อไม้จนโด่งดัง เพราะครั้งหนึ่ง เคยถูกสุ่มตรวจ และของแม่เป็นเจ้าเดียวที่ไม่ใส่สารกันบูด จึงกลายเป็นที่ชอบพอของลูกค้า ครั้นย้ายมาตั้งรกรากที่นี่ ก็อาศัยการเก็บหน่อไม้ตามป่าเขา เอามาทำหน่อไม้ดอง ขายที่นี่ส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ เมื่อก่อนก็ลุยป่าเก็บเห็ด เก็บตั้งแต่เช้ามืด ไปจนถึงเที่ยงก็ออกมา ได้ประมาณ 10 กิโลกรัม แต่ปัจจุบัน ทำแค่หน่อไม้ดอง กับขายแก้วมังกร” พี่อ้วนเล่าให้ฟัง

ขณะที่พี่เร่ง เสริมต่ออีกว่า แม้จะไม่มีที่ราบให้ทำกิน แต่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ก็ทำให้คนไม่อดตาย อย่างช่วงนี้ถึงฝนหมด ก็มีเห็ดให้เก็บมาเลี้ยงชีพ เดือยมีนาคม เมษายน พฤษภาคม ก็มีสะตอ เดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ก็เก็บหน่อไม้ได้ แต่หากช่วงไหนในป่าไม่มีโปรโมชั่น ชาวห้วยน้ำเค็มก็มีไม้กวาด

ใครผ่านไปมาบนทางหลวงหมายเลข 304 หลักกิโลเมตรที่ 70 ขึ้นมานั้น ยากที่จะรู้ว่า ริมสองฝั่งทางที่เหมือนป่าเขา จะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านห้วยน้ำเค็ม ซึ่งชาวบ้านพึ่งพาอาศัยป่าในการดำรงชีพ แม้จะไม่ถึงกับทำให้ร่ำรวย หากก็เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีศักดิ์และศรีตามที่ผู้ไม่เคยงอมืองอเท้าพึงจะมี

กาลเวลาจากจุดเริ่มต้น ตั้งแต่มีการขอคืนพื้นที่เพื่อปลูกป่านั้นได้ผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว และความอุดมสมบูรณ์ของป่าก็เป็นสิ่งที่ช่วยพยุงวิถีชีวิตของชาวห้วยน้ำเค็มให้อยู่ดีมีสุขมาจนถึงปัจจุบัน แต่กระนั้น วิถีพึ่งพาแบบนี้ก็มีให้เห็นน้อยลงไปทุกที เพราะลูกหลานที่เติบโตในหมู่บ้านห้วยน้ำเค็ม เช่นกันกับพื้นที่อื่นๆ ที่ต่างหันเหเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต จากอาชีพเกษตรกรรม มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมกันเป็นส่วนใหญ่ ทิ้งเป็นเครื่องหมายคำถาม ที่คำตอบคงทอดรออยู่เบื้องหน้า เพราะทุกชีวิตต่างมีสิทธิ์ที่จะเลือกเส้นทางแห่งการดำรงชีพของตัวเอง แต่กระนั้น ตราบเท่าที่ป่ายังอุดมสมบูรณ์ ลูกหลานชาวห้วยน้ำเค็ม ก็ยังมีที่ทางในการเลี้ยงชีพสืบไป

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code