จัดการการเรียนรู้แบบเครือข่าย เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
สสส.-DPU จัดการศึกษารอดพ้นวิกฤติ40 เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ 211 แห่ง 18 จังหวัด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ New Business DNA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้คำตอบสุดท้าย เติมเต็มการจัดการศึกษาที่จะทำให้ชาติรอดพ้นจากวิกฤติได้ต้องนำทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น สถาบันศาสนา ภาคเอกชน ภาครัฐ นำร่องสถานศึกษา 40 เครือข่าย ประกอบด้วย โรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ จำนวน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ ศ.ดร.บุญเสริม วีสกุล อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้โคลนนิง ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าโครงการ เพื่อขยายเครือข่ายทั่วทั้งประเทศ พิธีมอบเกียรติบัตรแก่โรงเรียนแหล่งเรียนรู้ในโครงการ
เด็กและเยาวชนเป็นบุคคลที่มีค่าและสำคัญที่สุด เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ป้องกัน พัฒนาสุขภาวะให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นพิเศษและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายองค์กรระดับโลกร่วมกัน ขณะนี้เมืองไทยมีการตื่นตัวกันในการพัฒนาสุขภาวะของเด็กและเยาวชนในหลายหน่วยงาน และองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ New Business DNA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดสัมมนาสรุปบทเรียนโครงการการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต ระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย.
เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และคณะ ได้ศึกษาพบว่า การสร้างระบบการศึกษาที่จะทำให้ชาติรอดพ้นจากวิกฤติได้นั้น คือ ระบบการศึกษาที่นำทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น สถาบันศาสนา ภาคเอกชน ภาครัฐและองค์กรอื่นๆ เพื่อเติมเต็มระบบการจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ แนวคิดนี้สนับสนุนให้เกิดตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม 40 เครือข่าย โรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ จำนวน 211 แห่งในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน นครสวรรค์ อุทัยธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม สกลนคร อุดรธานี สิงห์บุรี สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล
การทำงานในรูปแบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาพบว่า ผู้เรียน 75% ได้รับการพัฒนาตามช่วงวัย จากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติพบว่า ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 5-19% หลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของวิถีท้องถิ่น และชุมชนร่วมเป็นเจ้าของการจัดการศึกษา ความสำเร็จในการทำงานคือ การที่กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และโรงเรียนมาร่วมกันออกแบบการทำงานทำให้เป็นกิจกรรมที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นที่ตัวผู้เรียน
ศ.ดร.บุญเสริม วีสกุล อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์อดีตรองอธิการบดี NIDA อดีตผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคคนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับเกียรติจากหน่วยงาน สสส.มอบหมายให้ทำงานด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท ทั้งนี้ ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ทำงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยอย่างต่อเนื่อง ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัยผมเองรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย งานนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ครูอาจารย์ นักศึกษา โครงการประสบความสำเร็จ ทำหน้าที่ร่วมมือกันในบรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตร การจัดทำคู่มือปฏิบัติการเพื่อต่อยอดสานต่อ การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ได้มีข้อครหา ไม่ได้มีการถูกสอบสวน ไม่ได้ถูก ม.44 บังคับ มีผลงานที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและชุมชน ผมร่วมรับทราบในความสำเร็จของโครงการ นำไปขยายผลเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ขยายผลไปยังโรงเรียน.3.5 หมื่นโรง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของชาติ
ศ.ดร.บุญเสริม กล่าวขอบคุณกองทุน สสส.ที่สนับสนุนให้มีงานวิจัยเรื่องนี้ เมื่อได้ทำงานร่วมกับเยาวชนทำให้รู้อย่างลึกซึ้งว่าปัญหาของเยาวชนเป็นอย่างไร ลงมือแก้ไขอย่างไร ระบบการศึกษาบ้านเราที่ค่อนข้างอุ้ยอ้ายทำอะไรก็ต้องลงทุนแพงไปหมด ถ้าเปรียบเทียบกับระบบการศึกษาในประเทศต่างๆ ของโลก ประเทศไทยมีระบบการศึกษาเกือบจะด้อยที่สุด ถ้าไม่ลงมือแก้ไขแล้ว ประเทศเราจะต้อยไปทุกด้าน โครงการนี้สร้างความมีส่วนร่วม มีน้ำใจร่วมมือกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร ประสิทธิภาพในการบริหารแก้ไขได้ ทุกคนรู้ดีว่าถ้าปล่อยให้สังคมอยู่ท่ามกลางนายทุนที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ส่งผลให้การทำงานไร้ประสิทธิภาพได้ ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม รู้จักการแบ่งปัน ทุกวันนี้เรามีทรัพยากรในประเทศอย่างจำกัด เงินที่ลงทุนเพื่อการศึกษาจำนวนหมื่นล้านบาทมากกว่างบประมาณในหลายกระทรวง
"โครงการนี้สำคัญมาก สำเร็จได้เพราะ 1 พิณสุดาสร้าง 40 เครือข่าย 200 โรงเรียนมาร่วมกันทำงาน ตอนนี้ผมอยากได้ 10 พิณสุดาขยายเครือข่ายไปเรื่อยๆ ทั่วทั้งประเทศ โรงเรียนร่วมเป็นเครือข่าย เกิดความสำเร็จในการบริหารการศึกษา ทำให้แวดวงการศึกษามีส่วนร่วม ดังนั้นการพัฒนาสุขภาวะเยาวชนเป็นเป้าหมายของ สสส.นำผลสัมฤทธิ์สร้างเยาวชนเป็นคนดีของประเทศชาติ ทำประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน" ศ.ดร.บุญเสริม กล่าวในที่สุด
ผศ.ดร.พิณสุดา หัวหน้าโครงการการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนทุนให้กับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางการศึกษา วิทยาลัยครุศาสตร์ ดำเนินโครงการการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่าย โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืนในระหว่างเดือน ส.ค.2558-เดือน ธ.ค.2559 ในโรงเรียน แหล่งเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายจำนวน 40 เครือข่าย 211 โรงเรียนในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ
การดำเนินงานประเด็นสุขภาวะ 3 ด้าน การสร้างความตระหนักและป้องกันการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ด้านทุพโภชนาการและโรคอ้วน และด้านสุขภาวะทางเพศ และตามความต้องการพัฒนาของโรงเรียนอีก 2 ด้าน คือ ด้านคุณธรรมจริยธรรม และคุณภาพการศึกษาที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะโดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางการศึกษา วิทยาลัยครุศาสตร์ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการและสนับสนุนส่งเสริมทางวิชาการ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิระดับภาคทำหน้าที่นิเทศ ติดตาม สนับสนุนและประเมินผลการดำเนินงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของโรงเรียนส่งผลให้เกิดการผนึกกำลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางการศึกษา เกิดความเข้มแข็ง ประหยัดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อผู้เรียน ส่งผลต่อสุขภาวะของครอบครัว ชุมชน และสังคมที่ดำรงอยู่ เป็นฐานของการปฏิรูปสุขภาวะและการศึกษาได้อย่างดีในอนาคต สมควรขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ จนกระทั่งสถานศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 110 โรงเรียนเห็นประโยชน์และรวมตัวกันขอรับการสนับสนุนจาก สสส. การสัมมนาประกอบด้วยการอภิปราย การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของเครือข่าย
โครงการได้คัดเลือกเครือข่ายดีเด่นทางการบริหารจัดการการเรียนรู้ประเภทต่างๆ การมอบเกียรติบัตรแก่โรงเรียน.แหล่งเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ในโครงการ เพื่อเป็นเกียรติแก่เครือข่ายและโรงเรียนประเภทโล่รางวัล 1.รางวัลการบริหาร จัดการเครือข่ายดีเด่นตามกระบวนการมี ส่วนร่วมและเป้าหมายสุขภาวะจำนวน 6 เครือข่าย คือ 1.เครือข่ายโรงเรียนจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 2.เครือข่ายบ้านโนนจิก จังหวัดศรีสะเกษ 3.เครือข่ายกุพดเรือคำ จังหวัดสกลนคร 4.เครือข่ายศรีบรรพตโมเดล จังหวัดพัทลุง 5.เครือข่ายโรงเรียนบูเกะบากง จังหวัดนราธิวาส 6.เครือข่ายโรงเรียนวัดสังฆราชาวาส จังหวัดสิงห์บุรี
2.รางวัลการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนดีเด่นจำนวน 6 เครือข่าย คือ 1.เครือ ผข่ายโรงเรียนบ้านศรีเตี้ย จังหวัดลำพูน 2.เครือข่ายโรงเรียนบ้านเทิน จังหวัดศรีสะเกษ 3.เครือข่ายโรงเรียนบ้านดอนแรด (จินดาวิทยาคาร) จังหวัดสุรินทร์ 4.เครือข่ายเมืองนาหม่อม จังหวัดสงขลา 5.เครือข่ายวัดลอน จังหวัดพัทลุง 6.เครือ ข่ายโรงเรียนเกิ้งวิทยานุกูล จังหวัดมหาสารคาม
3.รางวัลการจัดการทักษะชีวิตที่ส่งผลต่อ คุณธรรมจริยธรรมดีเด่น ได้แก่ เครือข่ายโรงเรียนบ้านโป่งแดง จังหวัดลำพูน 4.รางวัลการจัดการ ความรู้โดยการจัดนิทรรศการดีเด่นระดับภาค จำนวน 3 ประเภท 9 เครือข่าย รางวัลชนะเลิศ ภาคเหนือได้แก่ เครือข่ายโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ภาคกลาง เครือข่ายโรงเรียนวัดสังฆราชาวาส จังหวัดสิงห์บุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เครือข่ายโรงเรียนบ้านหนองไฮ จังหวัดศรีสะเกษ ภาคใต้ได้แก่ เครือข่ายบูเกะตา จังหวัดนราธิวาส รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เครือข่ายโรงเรียนบ้านอีเซ (คุรุราษฎร์วิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายโรงเรียนวัดปะโอ จังหวัดสงขลา เครือข่ายบ่อประดู่ จังหวัดสงขลา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครือข่ายยางกุดนาคำ จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายกุดเรือคำ จังหวัดสกลนคร เครือข่ายบ้านพร้าว จังหวัดพัทลุง เครือข่ายศรีวารินทร์ จังหวัดนราธิวาส เครือข่ายโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะเยาะ จังหวัดนราธิวาส ประเภทเกียรติบัตร สำหรับเครือข่ายที่ร่วมดำเนินโครงการจนกระทั่งแล้วเสร็จด้วยดี 1.เครือข่ายโรงเรียนบ้านป่าหัด จังหวัดน่าน 2.เครือข่ายโรงเรียนวัดบ้านดง จังหวัดลำพูน 3.เครือข่ายโรงเรียนแม่พริก จังหวัดลำปาง 4.เครือข่ายโรงเรียนบ้านพงสิม จังหวัดศรีสะเกษ 5.เครือข่ายโรงเรียนบ้านห้วย จังหวัดศระเกษ 6.เครือข่ายโรงเรียนสวัสดีวิทยา จังหวัดศรีสะเกษ 7.เครือข่ายโรงเรียนจตุรภูมิพิทยาคาร จังหวัดศรีสะเกษ 8.เครือข่ายแหล่งเรียนรู้ชุมชน บ้านหลังเรียนปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช จังหวัดมหาสารคาม 9.เครือข่ายวัดป่าคำเจริญ จังหวัดอุดรธานี 10.เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ปิยโสภณ จังหวัดอุดรธานี 11.เครือข่ายโรงเรียนวัดล่องกะเบา จังหวัดสิงห์บุรี 12.เครือข่ายพนมวงก์ จังหวัดพัทลุง 13.เครือข่ายโรงเรียนสวนพระยาวิทยา จังหวัดนราธิวาส 14.เครือข่ายเฉลิมพระเกียรติฯ บางปอ จังหวัดนราธิวาส 15.เครือข่ายยาลอ จังหวัดยะลา 16.เครือข่ายสายบุรี จังหวัดปัตตานี 17.เครือข่ายสตูล จังหวัดสตูล
ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าวว่า เราไม่ได้หวังเอาเงินเป็นตัวตั้ง หากต้องการทำงานให้บ้านเมืองในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองชุมชนรวมตัวกันเป็นเครือข่าย บางพื้นที่ในระดับประถม มัธยม ไม่ใช่เป็นการครอบงำแต่ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการกระจายอำนาจทางด้านการศึกษาออกจากส่วนกลาง เป็นการปลูกต้นไม้คุณภาพ การทำงานนี้สืบเนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมีส่วนร่วมผลักดันระบบการศึกษาที่พาชาติให้พ้นจากวิกฤติ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี,รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ, ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์, ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่, ดร.ศิริพร แย้มนิล, ดร.นงราม เศรษฐพานิช และ ดร.วลัยพร ศิริภิรมย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ผศ.ดร.พิณสุดา ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการจัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็น ระบบการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคนไทยคือ การศึกษาที่ฟังเสียงประชาชน และต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับโรงเรียน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยการร่วมคิดร่วมทำ เพราะปัญหาแต่ละบริบทนั้นมีความแตกต่างกัน ต้องจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนนั้นๆ ดังเช่น ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ต้องการเรียนเรื่องศาสนาในโรงเรียน โดยมีกิจกรรมสร้างเครือข่ายพี่สอนน้อง (เกี่ยวกับการสอนศาสนาในตาดีกา) เป็นต้น
การปฏิรูปการศึกษาของไทย (ยุคปัจจุบัน) เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 มีการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับโรงเรียน การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตามความต้องการของท้องถิ่น พร้อมทั้งให้ชุมชนท้องถิ่นได้ร่วมจัดการศึกษา จัดการเรียนรู้ในพื้นที่ของตนมากขึ้น โดยคาดหวังว่าการศึกษาจะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่นของตน เกิดความสำนึกรักและผูกพันในแผ่นดินถิ่นเกิด ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น เด็กและเยาวชนจะเคารพในองค์ความรู้ของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะมีความสุขเมื่อได้ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกหลานในชุมชนได้ฟัง ดังนั้นจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาได้ร่วมมือกันปฏิรูปการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้ระบบทำงานแบบมีส่วนร่วมอิงฐานชุมชน