จังหวัดบุรีรัมย์ ขับเคลื่อนมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
จังหวัดบุรีรัมย์ ขับเคลื่อนมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน หวังเสริมสร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจรในองค์กรและขยายสู่สังคม
เร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ นายอนุรัฐ ไทยตรง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ประธานเปิดการประชุมโครงการสานพลังสร้างมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับการสนับสนับสนุนจาก สสส. จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน บังคับใช้เป็นการภายในของหน่วยงาน ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งจะเป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและเป็นต้นแบบในการขยายสู่สังคมต่อไป
นายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดแก่บุคลากรในองค์กรทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศ เรื่อง มาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนเมื่อปี 2559 โดยให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดในการใช้รถใช้ถนน ตามมาตรการ 1ร 2ส 3ข และ 4ม (10รสขม) ได้แก่ (1ร) ไม่ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด (2ส) ไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร/ไม่ขับรถย้อนเส้นทาง (3ข) คาดเข็มขัดนิรภัย/พกใบขับขี่/ไม่แซงในที่คับขัน และ (4ม) เมาไม่ขับ/สวมหมวกนิรภัย/มอเตอร์ไซค์ปลอดภัย/ไม่ใช้มือถือขณะขับขี่ แต่ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก ทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว นอกจากนี้พฤติกรรมการขับขี่ในการขับรถเร็ว เมาสุรา และไม่สวมหมวกนิรภัย ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ปี 2560 ได้กำหนด 12 หน่วยงานเป้าหมาย ทั้งภาครัฐ สถานประกอบการ สถานศึกษาและท้องถิ่น ดำเนินการสร้างมาตรการองค์กรตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ เริ่มตั้งแต่การสำรวจข้อมูลและพฤติกรรมการขับขี่ของบุคลากรในหน่วยงาน การแต่งตั้งคณะทำงาน การจัดประชุมสร้างความเข้าใจ จัดทำกฎระเบียบมาตรการต่างๆ และดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งจะทำให้องค์กรมีมาตรการความปลอดภัยทางถนน บุคลากรของหน่วยงานมีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในการขับขี่อย่างปลอดภัย รวมทั้งสามารถ ลดการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนด้วย