จักรยานสร้างเสริมสุขภาพ

การขี่จักรยานต้องยึดหลัก   1.ออกกำลัง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ 2.ได้ชื่อว่าช่วยกันประหยัดพลังงาน หรือเชื้อเพลิง 3.ช่วยลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง


จักรยานสร้างเสริมสุขภาพ thaihealth


"ลอง ตรองดู เถิดหนา ขวัญใจ จักรยาน กับมอเตอร์ไซค์ อย่างไหน ปลอดภัยกว่ากันรถพี่ช้ากว่า แต่ช้า ปลอดภัยถึงบ้าน มอเตอร์ไซค์ วิ่งไวชนกัน ถึงโรงพยาบาลมาแล้วมากมาย…"


เนื้อความบางตอนของบทเพลงแต่อดีต นานนับสิบปี ยังคงแว่วในความทรงจำที่ผู้ร้องหรือผู้ประพันธ์ พยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความปลอดภัย ในการใช้จักยานโดยนำไปเปรียบเทียบกับมอเตอร์ไซด์ว่าหากเกิดอุบัติเหตุแล้ว จักรยาน (น่าจะ) ได้รับผลกระทบน้อยกว่าด้วยตรรกะความเร็ว-ช้า กลไก มาเป็นตัวตัดสิน แสดงบอกกล่าว ให้ทราบแบบง่ายๆ โดยไม่มีมิติอื่นใดมาเป็นส่วนประกอบ


แต่ด้วยวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนปัจจุบันที่ต่างไปจากแต่ก่อนด้วยเหตุปัจจัยสนับสนุนที่ต่างกัน เรามีเครื่องมือใช้สอย ที่อำนวยความสะดวกในทุกเรื่อง เมื่อก่อนมีเกวียน มีรถม้าเมื่อผ่านยุคสมัยมีปัจจัยอำนวยการได้ดีกว่า สิ่งเหล่านี้ก็หมดยุค


จักรยานก็เช่นกัน  นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ก้าวเดินมากับสังคมไทยอย่างยาวนาน ด้วยเป็นพาหนะเอนกประสงค์ ทั้งประกอบอาชีพทำมาหากินออกกำลังกาย หรือใช้ถีบไปจับจ่ายซื้อของ มีรูปลักษณ์แผกแตกต่างกันไปตามภาระงาน ราคาก็จะต่างกันไป


จักรยานสร้างเสริมสุขภาพ thaihealthเมื่อเวลาผ่านไปก็มีพัฒนาการตามไปด้วย มีวัสดุใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตจักรยาน เพื่อให้เบา แต่แข็งแรง มีอุปกรณ์เสริมเข้ามาเช่นไฟส่องสว่าง และไฟกระพริบด้านท้ายให้ยวดยานที่ตามมาได้สังเกตเห็น หรือมีเรือนไมล์วัดรอบ ความเร็ว ระยะทาง ตลอดจน GPS บอกทาง แต่ราคาก็ขยับตาม


เคยมีโอกาสเดินทางไป ญี่ปุ่น พบว่าประเทศเขามีการคิดค้นและพัฒนาจักรยานอย่างจริงจัง ออกมาหลากหลายรูปแบบที่จะเอื้อต่อเจ้าของ หรือผู้ใช้แต่ละกลุ่ม เช่นรถจักรยานแม่บ้านกับลูกสามารถเดินทางไปไหนมาไหนด้วยกัน มีตระกร้าที่นั่งสำหรับเด็กน้อย ให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัยมีร่มบังแดดหรือบังหิมะ มีการออกแบบใช้วัสดุปิดวงล้อจักรยานเผื่อเด็กเผลอเท้าแหย่เข้าไปในซี่ล้อ ตลอดจนมีหมายเลขที่ระบุ บ่งบอกชื่อเจ้าของกับมีเลนที่จัดเตรียมให้วิ่งขนานไปกับฟุตบาตร ไว้ให้แก่ผู้ถีบจักรยาน เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ นับว่าญี่ปุ่นเขาเอาใส่ใจ เป็นธุระและให้ความเสมอภาคแก่ผู้ใช้จักรยาน


จึงมักพบเห็นผู้คนญี่ปุ่น ในเมืองต่างๆ นิยมใช้จักรยาน เพื่อการสัญจรไปมา ในชีวิตประจำวันทำให้ญี่ปุ่น รวมทั้งจีน แม้ผู้คนจะใส่สูท ผูกไท หรือในชุดนักเรียน ก็ปั่นถีบจักรยานไปเรียน ไปทำงานกันเป็นเรื่องปกติ


สำหรับประเทศไทยหากทำอย่างนั้น คงมองแปลกตาเพราะบ้านเรา คนถีบส่วนใหญ่ หากไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาก็เป็นนักถีบจักรยานที่แต่งมาเต็ม อุปกรณ์เสื้อผ้า สีสันลวดลาย หมวกกันน๊อค รองเท้ากางเกง ต่างจากญี่ปุ่น และจีน


เห็นว่าบ้านเราควรหันมาร่วมกันใช้จักรยานให้มากขึ้น ส่วนรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ควรหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง มีแนวทาง มีนโยบายที่ชัดเจน หรือออกกฎหมายมารับรองทั้งความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้จักรยานให้มากขึ้น หรือแม้แต่ให้การสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับจักรยาน เพื่อช่วยลดต้นทุนและไม่ให้เงินตรารั่วไหลออกต่างประเทศ มิใช่เพียงทำตามกระแส ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็เงียบหายไป หากทำได้แบบนี้จะส่งผลผู้คนหันมาให้ความสนใจใช้จักรยานมากขึ้น


"ตอนนี้ มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งใน กทม. และในต่างจังหวัดบางแห่งมีการจัดตั้งรวมตัวกันเป็นชมรมจักรยานทั้งขี่เป็นเรื่องปกติในการออกกำลังกาย และสร้างกระแสให้ผู้คนในสังคมหันมาใช้จักรยานมากขึ้น"


แต่การขี่จักรยานต้องยึดหลักดังต่อไปนี้ จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง 1.ออกกำลัง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ 2.ได้ชื่อว่าช่วยกันประหยัดพลังงาน หรือเชื้อเพลิง 3.ช่วยลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อากาศสดชื่น ลดโลกร้อน และสิ่งที่ตามมาจากการใช้จักรยานกันมากๆ คือ การลดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยาน


แต่จะก่อประโยชน์อย่างนั้นได้ จำเป็นต้องมี บุคคลต้นแบบ ให้สังคมหันมาใช้จักรยานที่เป็นพาหนะเดินทางอย่างแท้จริง สามารถใช้ได้ ทั้งการเดินทางใกล้และไกล จักรยานต้องไม่ใช่เพียงเครื่องมือ หรือเป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ มีราคาแพงมีใช้ได้เฉพาะกลุ่มคนที่มีเงินแต่ต้องเป็นจักรยานที่ทุกคนมีได้อย่างมีคุณภาพตามความจำเป็นที่ต้องใช้ แล้วจักรยานก็จะเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่า อยู่คู่สังคมไทยตราบเท่านาน


จักรยานต้องไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือหรือเฟอร์นิเจอร์ มีราคาแพง แต่ต้องเป็นจักรยานที่ทุกคนสามารถมีได้อย่างมีคุณภาพ


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ