จะเป็นอย่างไร? หากใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไป
ที่มา : Fact sheet การบริหารจัดการเวลาบนโลกดิจิทัล (Screen Time Management) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)
แฟ้มภาพ
การใช้สื่อดิจิทัลที่มากเกินไปในวัยผู้ใหญ่ทั้งจากการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โทรศัพท์ การดูโทรทัศน์ หรือการเล่นแท็บเล็ต สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ฉะนั้น จึงควรจำกัดการใช้เวลาหน้าจอเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพมากเกินไป
ผลกระทบจากการใช้เวลาหน้าจอมากเกินไปมีดังนี้
น้ำหนักเพิ่มขึ้น ยิ่งใช้เวลาหน้าจอนานเท่าไหร่ น้ำหนักยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น การดุโทรทัศน์เพียงแค่ 2 ชั่วโมง ในแต่ละวันสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้ ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยอื่นที่เชื่อมโยงกันคือ พฤติกรรมเนือยนิ่ง นอนน้อย และรับประทานของจุกจิกระหว่างใช้หน้าจอ
ปัญหาด้านสายตา การจ้องมองจอนาน ๆ เป็นสาเหตุของโรคคอมพิวเตอร์วิวันซินโดรม โรคนี้จะมีอาการเมื่อยล้าจากการใช้สายตา ตาแห้ง สายตาพร่ามัว แสบตา สู้แสงไม่ได้ รวมถึงอาจปวดศีรษะ และคลื่นไส้ อาเจียน
ปวดเมื่อยและเจ็บหลัง ท่าทางการนั่งที่ไม่เหมาะสมเมื่อใช้หน้าจอ สามารถทำให้เกิดอาการเมื่อยคอ ปวดหลัง ปวดแขน ปวดไหล่ และข้อเท้าเสื่อม การเล่นเกมส์ในมือถือนานเกินไปยังส่งผลให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นที่ใช้ในการงอนิ้วตรงบริเวณโคนนิ้ว ทำให้เกิดอาการปวดบวม
นอนไม่หลับ แสงสีฟ้าที่สว่างมากจากหน้าจอส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ ส่งผลให้หลับได้ยากขึ้น
ซึมเศร้าและวิตกกังวล คนที่ติดมือถือมักมีอาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวลตาม อันเนื่องมาจากการรอคอย หรือคาดหวังเสียงโทรศัพท์ หรือการตอบกลับข้อความต่าง ๆ และหากวันใดลืมมือถือมาด้วย จะยิ่งรู้สึกเป็นกังวลมาก
คิดช้าลง การใช้โทรศัพท์เป็นเวลานาน จะได้รับรังสีจากคลื่นโทรศัพท์ที่แผ่ออกมามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมานั่นคือ ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน การใช้หน้าจอเป็นเวลานานยังมีผลต่อประสิทธิภาพของกระบวนการทางความคิดของสมอง และทำให้ความจำถดถอยอีกด้วย
อายุสั้น การใช้เวลาหน้าจอนานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการดูโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ หรือการเล่นโทรศัพท์ จะทำให้สุขภาพด้านหัวใจอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากขึ้น
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : Fact sheet การบริหารจัดการเวลาบนโลกดิจิทัล https://bit.ly/2C66kTc