‘จอมพระโมเดล’ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'จอมพระโมเดล' ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน thaihealth


"อ.จอมพระ ได้ให้ความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและกำหนดเป็นวาระของอำเภออย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2558 โดยทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ประชาชน และภาคประชาสังคม"


ยางล้อรถเก่าสีแดงสลับขาว ผูกติดเป็นแผงอย่างโดดเด่นติดตั้งตามโค้งต่างๆ กลายเป็นภาพที่ชินตาสำหรับคนในพื้นที่ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ แต่สำหรับคนนอกพื้นที่แผงล้อรถพวกนี้กลับดูโดดเด่นและทำให้เห็นวิถีโค้งของถนนชัดเจนขึ้น กระตุ้นให้ผู้ขับขี่รถต้องชะลอความเร็ว หรือหากพลาดพลั้งบรรดาล้อเหล่านี้ก็คงจะช่วยลดแรงกระแทกได้


ภาพดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการลดอุบัติเหตุของ อ.จอมพระ เท่านั้น ในอดีตที่นี่มีจุดเสี่ยงทางถนนจำนวนมากทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจนมีสถิติติดอันดับต้นๆ ของ จ.สุรินทร์ โดยเฉพาะสำหรับผู้ไม่ชินทางที่มักอาศัยถนนสายหลักของอำเภอผ่านไปยังจ.ร้อยเอ็ด และจังหวัดอื่นทางอีสานเหนือทำให้บางช่วงมีการจราจรคับคั่งและรถวิ่งด้วยความเร็วสูง ทั้งที่เป็นถนน 2 เลนเท่านั้น ส่วนตามแยกจุดตัดเข้าตรอกซอยหรือถนนหมู่บ้านก็ไม่มีสัญญาณไฟเตือน จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นแยกวัดใจ สำหรับพื้นผิวถนนก็มีบ้างที่ขรุขระไม่เรียบ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ขับขี่เมาแล้วขับ หรือขับรถเร็ว ทำให้ในปี 2558-2559  มีผู้เสียชีวิตรวมจำนวน 37 ราย โดยพื้นที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด 4 ตำบล คือ จอมพระหนองสนิท เมืองลิง และเป็นสุข


นายวรชัย ศรีสุวรรณวัฒนา นายอำเภอจอมพระ กล่าวว่า ด้วยปัญหาที่วิกฤติขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทางพื้นที่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน อำเภอได้นำปัญหาเข้าไปหารือกันในศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) อ.จอมพระและมอบหมายให้ ศปถ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งในอำเภอไปสำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่จนพบว่า มีจุดเสี่ยงมากถึง 27 จุด จากนั้นจึงมาวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในแต่ละจุด เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทของปัญหาที่แตกต่างกัน


"บางจุดอยู่ในการดูแลของทางหลวงแผ่นดิน ไม่สามารถสร้างถาวรวัตถุได้ จึงแก้ไขด้วยการติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบบริเวณทางแยกที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย เฉพาะ ต.หนองสนิท แก้ไขไปทั้งหมด 5 แห่ง ส่วนเรื่องเมาไม่ขับ บ้านไหนมีการจัดงาน อย่างงานบวช หรือช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ การห้ามไม่ให้ดื่มสุราคงทำได้ยาก จึงได้มอบนโยบายให้ผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านว่านอกจากตั้งด่านชุมชน ให้ชุมชนดูแลไม่ให้มีการดื่มขับแล้ว ต้องลงไปพูดคุยตามบ้านงานไม่ให้ขับรถออกไปไหนหากดื่มสุราด้วย"


จากการดำเนินงานเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบันแก้ไขจุดเสี่ยงไปแล้วหลายจุดบางจุดมาจากความร่วมมือของประชาชนให้พื้นที่ที่หาอุปกรณ์มาเอง เช่น ล้อรถยนต์เก่าที่ใช้แล้วมาทาสี และตั้งขึ้นเป็นแนวกันกระแทกเพื่อให้เป็นจุดสังเกตและลดแรงกระแทกหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณทางโค้งอันตราย


นายอำเภอจอมพระ อธิบายต่อว่า มาตรการเหล่านี้สามารถทำให้อุบัติเหตุลดลงได้มากถึง ร้อยละ 65 คือ  จากในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 17 ราย ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 20 ราย ก็ลดลงมาเหลือเพียงจำนวน 7 รายในปี 2560 และในช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่และสงกรานต์ ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเลยแม้แต่คนเดียวแม้จะแก้ปัญหาเดิมจนให้สถานการณ์คลี่คลายลงมากแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งด่านชุมชนจำนวน 105 หมู่บ้านหรือครบทั้งอำเภอ แต่ด้วยสภาพปัญหาที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ความจริงจังในการแก้ไขปัญหาจึงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งพบคือ ผู้สูงวัย เฉพาะเดือนเมษายนปีนี้ มีเสียชีวิตสองรายจากการปั่นจักรยานแล้วถูกรถมาชน เป็นปัญหาใหม่ที่ต้องหารือแก้ปัญหากันต่อไป


"ทั้งนี้ อ.จอมพระ ได้ให้ความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและกำหนดเป็นวาระของอำเภออย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2558 โดยทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ประชาชน และภาคประชาสังคม หนึ่งในนั้นที่เป็นภาคีสำคัญคือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนให้ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางท้องถนน(ศวปถ.) มาสนับสนุนด้านองค์ความรู้ในการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนและมีสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) มาช่วยเป็นเสมือนพี่เลี้ยงรวมทั้งเป็นแกนประสานการทำงานของภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงการช่วยพัฒนากลไกการจัดการปัญหาในระดับพื้นที่ จนเกิดเป็นศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ต่อมาก็คือกลไกหลักของพื้นที่ในการระดมปัญหารวบรวม และจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบการวิเคราะห์ประเมินผล และการนำนโยบายจากส่วนกลางไปประยุกต์ในการปฏิบัติจริงในพื้นที่จนเกิดเป็นรูปธรรมความสำเร็จ"


การดำเนินงานของ ศปถ. อ.จอมพระ สามารถรณรงค์ประชาสัมพันธ์และจัดอบรมวินัยจราจรให้โรงเรียนทำข้อตกลงให้นักเรียนสวมใส่หมวกนิรภัยก่อนขับขี่รถจักรยานยนตร์ทุกครั้ง เป็นความสำเร็จที่ทำให้อัตราการสวมหมวกกันนิรภัยสูงขึ้นในทุกกลุ่มนั่นคือ ประชาชนสวมหมวกนิรภัยสูงขึ้น 2.5 เท่า กลุ่มผู้นำ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สูงขึ้น 3 เท่า และกลุ่มนักเรียนสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้พบว่า อุบัติเหตุจากรถในกิจกรรมการเกษตร เช่น รถไถที่มีส่วนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงเป็นอีกประเด็นเฉพาะของพื้นที่ที่ต้องสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนระมัดระวังมากขึ้นในการนำรถไถออกสู่ถนน เช่น การรณรงค์ให้นำแผ่นซีดีมาติดหลังรถไถเพื่อให้สะท้อนแสงไฟมองเห็นได้ชัดในเวลากลางคืนเป็นต้น


กล่าวได้ว่าความสำเร็จในการลดเจ็บตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของอ.จอมพระ หัวใจสำคัญคือการสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อให้ทุกฝ่ายได้บูรการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ เพราะพวกเขาคือเจ้าของพื้นที่ ผู้ที่จะรู้ดีถึงปัญหาและพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code