จอตู้วันนี้ มีอะไรดี ๆ ให้หนูดู

            เพี๊ยะเสียงฝ่ามือกระทบใบหน้า พร้อมท่าทางที่ตัวเอกของละครหลังข่าวถลันเข้าไปทำร้าย ตบตี ร่างกายนางเอกหรือคนที่ด้อยกว่า ตามด้วยคำพูดด่าทออย่างรุนแรง เพื่อแย่งผู้ชายหรือพระเอกในเรื่อง ได้กลายเป็นภาพที่เราเห็นกันจนชินตาในรายการโทรทัศน์บ้านเราไปเสียแล้ว….

 

             ที่น่าสลดใจไปมากกว่านั้น ก็เห็นจะเป็นรายการโทรทัศน์หลาย ๆ รายการได้นำภาพความรุนแรงมาออกอากาศซ้ำ ๆ กันครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งมักจะแอบแฝงมาในรูปแบบของละครน้ำเน่าบ้าง การ์ตูนยอดนิยมบ้าง โดยหารู้ไม่ว่าเด็กๆ ได้ซึมซับเอาความรุนแรงจากรายการเหล่านั้นอยู่ทุกวันๆ จนในที่สุดก็ระเบิดออกมาเป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาและที่สำคัญในโทรทัศน์ก็ทำกัน!!!

 

            ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีผลวิจัยจากมีเดีย มอนิเตอร์ ปี 2549 ของสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม ออกมาระบุว่า ละครไทย 88% มีฉากความรุนแรงเฉลี่ยเกือบ 4 ครั้งต่อ ชม. มีเนื้อหาเหยียดเพศ ดูถูกคนที่ด้อยกว่า 1.33 ครั้งต่อ ชม. มีการใช้ภาษาไม่เหมาะสม 0.25 ครั้งต่อ ชม. มีฉากคุกคามทางเพศ การข่มขืน 0.13 ครั้งต่อ ชม. ซึ่งงานวิจัยล่าสุดและละครที่ออกอากาศอยู่ปัจจุบัน ความรุนแรงก็ไม่ลดลง อาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

 

จอตู้วันนี้ มีอะไรดี ๆ ให้หนูดู            ด้วยเหตุนี้ ทำให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะ (สสย.) ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ จึงผนึกกำลังภาคี จัดเสวนา เรื่อง เจาะลึกจอตู้ วันนี้ หนู ๆ ดูอะไร เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์รายการโทรทัศน์และเนื้อหาความรุนแรงในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก พร้อมเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็น อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กต่อไป

 

            เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. เล่าให้ฟังว่า จากผลการวิจัยในปี 2549 พบว่า ละครไทยมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในเรื่องภาษา เรื่องเพศ การกระทำไม่ดีต่างๆ เพื่อดึงเรตติ้งคนดู ช่วงปิดเทอม เด็กจะได้อยู่กับจอโทรทัศน์มากขึ้น ผู้ปกครองต้องคอยบอกว่า รายการไหนควรดู ไม่ควรดู ที่สำคัญผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ และรัฐบาลน่าจะเข้ามามีส่วนในการป้องกัน ดูแลปัญหานี้ด้วยการขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ให้ผลิตรายการที่มีความเหมาะสมกับเด็ก

 

สิ่งที่เห็นในหน้าจอวันนี้เต็มไปด้วยละครที่ผู้หญิงตบตีกัน แย่งผู้ชาย ใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือไม่ก็เป็นละครที่นำเสนอเรื่องความลี้ลับ วิญญาณ หรืออิทธิฤทธิ์ต่างๆ มานำเสนอ ซึ่งทั้งหมดออกอากาศช่วงเวลาที่เด็กๆ กำลังนั่งหน้าจอรับข้อมูลเหล่านั้นอย่างใจจดใจจ่อ แต่ซ้ำร้ายรายการละครตลก หรือโรแมนติกบางรายการก็ใช้คำพูดที่รุนแรง บางครั้งถึงขั้นหยาบคายเพื่อกระตุ้นให้คนติดตาม หรือต้องการถ่ายทอดออกมาให้ผู้ชมมีความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องนั้นๆ แต่หารู้ไม่ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องที่น่าห่วงต่อวิจารณญาณในการรับชมของเด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง โดยผู้จัดละครมักให้เหตุผลว่าคนดูไม่โง่ สามารถแยกแยะเองได้ แต่อะไรก็ตามที่แฝงมากับความบันเทิงมักจะซึมลึกทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะคิดว่าถ้าทำได้ พูดได้แบบในละคร คนจะได้สนใจ ท้ายที่สุดเด็กจะถูกหล่อหลอมและซึมซับไปอย่างไม่ได้ตั้งใจ แล้วอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร รศ.ดร.วิลาสินี เล่า

 

ปัญหาทั้งหมดต้องแก้ที่โครงสร้างของสื่อ ขณะนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เข้าสู่ขั้นตอนของสภาแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาจัดแยกประเภทสื่อ ทำให้มีสื่อบริการสาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีเกณฑ์เรื่องสัดส่วนเนื้อหามากำหนด เช่น ต้องมีรายการสาระไม่ต่ำกว่า 70% สื่อพาณิชย์ที่จะมีมาตรฐานด้านเนื้อหาและความรับผิดชอบต่อสังคมมากำกับมากขึ้น จะทำให้ผู้ชมได้ดูรายการที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. จะอยู่ในขั้นกรรมาธิการอีก 4-5 เดือน แต่กฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล จึงขอให้ประชาชนช่วยกันติดตาม เพื่อให้กฎหมายนี้ออกมาแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม เสนอคำแนะเสริม

 จอตู้วันนี้ มีอะไรดี ๆ ให้หนูดู     จอตู้วันนี้ มีอะไรดี ๆ ให้หนูดู

ด้าน ผศ.ลักษมี คงลาภ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ได้ออกมาเผยถึงผลการวิเคราะห์รายการโทรทัศน์และเนื้อหาความรุนแรงในรายการโทรทัศน์ว่า รายการโทรทัศน์ในประเทศไทยมีสัดส่วนที่เป็นรายการสำหรับเด็กเพียง 6.49% เท่านั้นและการรายการสำหรับเด็กที่มีอยู่ 91 รายการนั้น พบว่า 54.95% มีเนื้อหาที่รุนแรงไม่เหมาะกับเด็ก โดยนำเสนอผ่านการ์ตูนมากถึง 63.81%

 

            จากผลสัมภาษณ์เด็กอายุ 6-12 ปี ในช่วงเดือนธันวาคม 51 นั้นพบว่า เด็กส่วนใหญ่ ยอมรับว่า เคยเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในรายการโทรทัศน์ที่ชอบดู อาทิ การเตะ ต่อย ดึงผม ข่วนหน้า หรือการกระโดดถีบเพื่อน ซึ่งดูมาจากรายการการ์ตูน จำพวกยอดมนุษย์ต่าง ๆ และจากละครหลังข่าว แต่ที่น่าสนใจคือ ความจริงแล้วเด็ก ๆ ไม่มีใครอยากดู หรืออยากเห็นความรุนแรงในรายการโทรทัศน์ ทั้งภาพโป๊ คนตบตีกัน ฆาตรกรรม การฆ่าแล้วเห็นชิ้นส่วน ตัดอวัยวะ ทุบตี และการลวนลามทางเพศ แต่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากมีฉากเหล่านี้แทรกซึมอยู่เกือบทุกพื้นที่ในรายการโทรทัศน์ผศ.ลักษมี กล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นกังวล

 

จอตู้วันนี้ มีอะไรดี ๆ ให้หนูดู            แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด เห็นจะเป็นการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพของพระเอกจากเดิมที่มีความสุขุม นุ่มลึก มาดดี คอยช่วยเหลือนางเอกอยู่เสมอ สมกับเป็นคนดี ให้กลับกลายเป็นพระเอกจอมป่าเถื่อน อารมณ์ร้อน ดูถูกคน แถมละครบางเรื่อง ยังให้พระเอกตบตีนางเอกซะอย่างนั้น…

 

            โดย ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาเผยว่า ปัจจุบันละครมักสร้างบุคลิกของพระเอกในแง่ลบ ให้ เจ้าคิดเจ้าแค้น ปากร้าย หูเบา เชื่อคนง่าย แต่รักเดียวใจเดียว เป็นวีรบุรุษ ส่วนนางเอกมักสร้างให้มองโลกในแง่ดี อ่อนต่อโลก เจ้าน้ำตา คิดมาก ขี้น้อยใจ ประชดประชัน เชื่อคนง่าย หยิ่งในศักดิ์ศรี ซึ่งบุคลิกความคิดของพระเอก-นางเอก เป็นส่วนที่เด็กๆ อาจเลียนแบบได้ ส่วนนางร้ายจะฉลาด ช่างเอาใจ โหดร้ายทารุณ ขี้อิจฉา บ้าผู้ชาย โกหก เสแสร้ง ชอบยั่วยวน แต่งกายโป๊ ๆ ส่วนตัวร้ายชาย จะถูกสร้างให้เห็นแก่เงิน เจ้าเล่ห์ ชอบใช้กำลัง และฉากต่าง ๆ ในละครมักมีความรุนแรงโดยการใช้กำลัง ความขัดแย้งในครอบครัว การมีความรักแบบฉาบฉวย รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการเลียนแบบของเด็กทั้งสิ้น ผศ.ดร.พรทิพย์ กล่าวด้วยความเป็นห่วง

 

            เมื่อรายการโทรทัศน์ไทยแอบแฝงไปด้วยความรุนแรง การป้องกันเด็ก ๆ ให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ปกครองควรดูแลและให้คำแนะนำแก่เด็ก ๆ แต่น่าตกใจเป็นที่สุด เมื่อ ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการเปิดรับและความต้องการของเด็กที่มีต่อรายการโทรทัศน์ ในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี แล้วพบว่า สิ่งที่พ่อแม่แนะนำให้ลูก ขณะดูโทรทัศน์ คือ อย่านอนดึก อย่าดูโทรทัศน์ใกล้ ห้ามดูโทรทัศน์หลัง 3 ทุ่ม!!!!!

 

            น่าตกใจมากครับ เมื่อเด็กบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พ่อแม่ไม่เคยแนะนำลูก ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาของละครหรือรายการเลย โดยเฉพาะเมื่อผลวิจัยระบุว่า วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เด็ก ๆ ถึง 66.8% นั่งดูละครหลังข่าวและเด็ก 22.4% นั่งดูโทรทัศน์คนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ ดร.บุญอยู่ กล่าวด้วยความหนักใจ พร้อมเล่าว่า อยากให้ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รับฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ ว่าต้องการรายการโทรทัศน์แบบไหน เพราะจากผลวิจัยดังกล่าว เด็ก ๆ ได้ระบุว่า อยากให้เพิ่มรายการสารคดีมากที่สุด ถึง 64.3% รองลงมาคือ ข่าวของเด็กและเยาวชน 63.7%

 จอตู้วันนี้ มีอะไรดี ๆ ให้หนูดู     จอตู้วันนี้ มีอะไรดี ๆ ให้หนูดู

ด้าน นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก กล่าวว่า หากเด็ก ๆ บริโภคความรุนแรงเป็นประจำ ย่อมส่งผลต่อจิตใจ และจะแสดงออกทางบุคลิกภาพ ซึ่งสามารถแบ่งได้ 4 บุคลิกภาพ คือ เด็กที่โต้ตอบรุนแรง เด็กที่ใช้กลไกทางจิต คือ เกิดอาการเก็บกด หวาดผวา เด็กที่รู้สึกเคยชิน จนคิดว่าพฤติกรรมรุนแรงนั้นๆ เป็นเรื่องปกติ และเด็กที่ไม่มีความเมตตา ไม่ปรารถนาที่จะช่วยเหลือคนเหลือ เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของตน ยกตัวอย่างเด็กรายหนึ่งที่ชอบดูรายการมวยปล้ำบ่อยๆ จนวันหนึ่งเกิดโมโหเพื่อน เอาเก้าอี้ทุ่มใส่เพื่อน เนื่องจากเด็กเกิดการซึมซับพฤติกรรมแล้วนำไปเลียนแบบ ดังนั้น ผู้ปกครองควรแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องให้แก่ลูก ปลูกฝังให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน จะทำให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบสุข

 

รายการทีวีต่างๆ เด็กสามารถดูได้ แต่พ่อแม่ต้องคอยแนะนำอธิบาย อาจถอดบทเรียนสร้างความเข้าใจ โดยการใช้คำถามปลายเปิด พูดคุยกัน ซึ่งการห้ามเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เช่น หากพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกดูทีวีดึก ก็ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างไม่ดูทีวีดึกด้วยเช่นกัน และจากผลสำรวจจะพบว่า เด็กดูทีวีช่วงพาร์มไทม์มากกว่าช่วงอื่นๆ ดังนั้น แทนที่จะมีการจัดเรทติ้งรายการต่างๆ เพียงอย่างเดียวควรจะมีการจัดรายการให้เหมาะสมกับช่วงเวลาอีกด้วยนายแพทย์สุริยเดว กล่าวแนะนำ

 

จอตู้วันนี้ มีอะไรดี ๆ ให้หนูดู            คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จอตู้บ้านเราวันนี้ มีสัดส่วนรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับเด็กในวัยต่าง ๆ อีกทั้งไม่ตรงกับความต้องการของเด็ก ๆ อีกด้วย…คงจะดี ถ้าคนทำรายการโทรทัศน์จะหันมาฟังเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ ว่า รายการโทรทัศน์แบบไหนที่เด็ก ๆ อยากดู…

 

น้องเบล หรือ ด.ญ.นลินภัสร์ วิริยธนวงศ์ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนวัดไผ่เงินโชตนาราม เล่าว่า อยากให้มีรายการที่ส่งเสริมเกี่ยวกับการศึกษา รายการที่แนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึงรายการที่สอนการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะบางครั้งเด็ก ๆ จะได้ยินคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงบ่อยมาก แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะรายการส่วนใหญ่มีแต่ผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่ทำ ผู้ใหญ่เป็นพิธีกร บางครั้งเด็กก็ไม่เข้าใจ  อยากให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมรายการที่เป็นฝีมือของเด็ก ผลิตโดยเด็ก สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วม

 

ด้าน น้องจ๋า หรือ ด.ญ.กมลวรรณ มะลิวัลย์ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนวัดไผ่เงินโชตนาราม เล่าว่า ชอบดูรายการสารคดีมาก แต่รายการสารคดีที่อยู่นั้น น้อย และออกอากาศในระยะเวลาที่สั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นรายการที่ให้ความรู้ เช่น วงจรชีวิตสัตว์ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนได้ และอยากให้เพิ่มรายการที่ส่งเสริมความสามารถด้านดนตรี นอกจากนี้ยังอยากได้รายการที่นอกจากจะสนุกแล้ว ยังได้ความรู้ และเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ๆ อีกด้วย

 

เสียงสะท้อนจากเด็ก ๆ คงเป็นแนวทางให้ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ได้ทำรายการให้ตรงกับความต้องการและพัฒนาให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน อนาคตจอตู้ไทย คงมีแต่รายการที่ เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี”…

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

Update 16-03-52

Shares:
QR Code :
QR Code