“จมน้ำ” ป้องกันได้ เหตุแห่งการตายที่น่าเสียดาย

ข้อมูลจาก: เปิดตัวโครงการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก “ลูกรอดปลอดภัย ที่นั่งนิรภัยอย่ามองข้าม”

ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    มติสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly ได้กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก” (World Drowning Prevention Day ) และปี 2567 องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวคิดว่า “Anyone can drown, no one should จมน้ำง่ายกว่าที่คิด…หนึ่งชีวิตไม่ควรสูญเสีย” ดังนั้น เพื่อตอกย้ำ ไม่ปล่อยให้ทุกชีวิตต้องเสียไปกับการจมน้ำ จึงสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายผู้ก่อการดีขยายออกไปช่วยเหลือ ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเหลือ 290 คนต่อปี จาก 615 คนต่อปี

                    สถานการณ์การจมน้ำในประเทศไทย เริ่มเปลี่ยนไป หลังกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือและร่วมกันสร้างเครือข่ายผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) กระตุ้นให้พื้นที่ ชุมชน ดำเนินการป้องกันการจมน้ำ โดยนายชลธี เลาหกรรณวนิช จิตอาสา และหัวหน้าทีมปฏิบัติการใต้น้ำ เล่าว่า เดิมเป็นจิตอาสากู้ภัยมูลนิธิฮุก 31 ช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่จุดเปลี่ยนที่หันมาทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอน หรือเทรนด์เหล่าผู้ก่อการดีแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ เกิดขึ้นเมื่อครั้งช่วยงมร่างเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ และรู้สึกปวดใจเมื่อเห็นพ่อแม่ และครอบครัวต้องสูญเสียบุตรหลาน จึงฉุกคิดว่า ทำอย่างไรนอกจากช่วยเหลือปลายทางแล้ว เปลี่ยนมาใช้วิธีในเชิงรุก ระงับเหตุแต่ต้นทาง ไม่ให้เกิดความสูญเสีย โดยการป้องกันไม่ให้มีเด็กจมน้ำ จึงไปอบรมหลักสูตร ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด กับกรมควบคุมโรค จากนั้นจึงรวมตัวกับเพื่อนเป็นจิตอาสา ตระเวนไปทุกจังหวัดทำหน้าที่สอนท้องถิ่น ให้รู้จักการช่วยเหลือเบื้องต้น  “ตะโกน โยน ยื่น” และประเมินความเสี่ยงของแหล่งน้ำ รวมถึงสอนเรื่องกู้ชีพ และป้องกันการจมน้ำ ซึ่งทำแบบนี้มาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว

                    “การจมน้ำ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า และน่าเสียดาย เพราะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โอกาสรอดชีวิตจากการจมน้ำ ต้องทำภายใน 5 นาที และแตกต่างจากการกู้ชีพทั่วไป เพราะการจมน้ำอย่างแรกที่เกิดขึ้น คือการหมดลมหายใจ เพราะน้ำเข้าไปในปอดแทนที่อากาศ ดังนั้นต้องเร่งเป่าปาก เติมลมเข้าปอด เพื่อไล่น้ำออกไป” นายชลธี กล่าว

                    ปัจจุบันเกิดเครือข่ายผู้ก่อการดี ดำเนินการป้องกันการจมน้ำในพื้นที่ชุมชน กว่า 5,833 ทีม ใน 752 อำเภอ และเพื่อเป็นการให้กำลังใจกับผู้ดำเนินป้องกันและลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกองทุน สสส. จึงได้มอบรางวัล ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ (MERIT MAKER Plus) ระดับประเทศ ประจำปี 2566 รวม 36 รางวัล เนื่องจากการจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในระดับโลกและประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลก พบว่า คนทั่วโลกจมน้ำเสียชีวิตปีละ 236,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 1-14 ปี ถึง 82,000 คน และหากวิเคราะห์ช่วงอายุของการจมน้ำ ยังพบว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี

                    “ตลอด 17 ปี ของการดำเนินงานลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็ก พบว่า สัดส่วนของ ผู้เสียชีวิตลดลงถึง 60% เหลือเสียชีวิต 615 คนต่อปี จากเดิม 1,500 คนต่อปี ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำและทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ เพื่อให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำลดลงไม่เกิน 290 คน ภายในปี 2580” นายสมศักดิ์ กล่าว

                    ขณะที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์การจมน้ำของคนไทย พบวันละ 10 รายต่อวัน ดังนั้น สสส. จึงร่วมกับ กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่าย ดำเนินงานจัดการปัญหาแก้ปัญหาการจมน้ำในพื้นที่เสี่ยง ร่วมป้องกันแต่ต้นทางด้วยผู้ก่อการดี นำองค์ความรู้ เทคนิคไปอบรมและสร้างเสริมทักษะที่ให้กับเด็ก เริ่มจาก “ตะโกน โยน ยื่น” เป็นพื้นฐาน เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีพบเห็นคนจมน้ำ และที่สำคัญต้องเข้าใจรู้จักประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ไม่ใช่พบคนจมน้ำ รีบกระโดดเข้าไปช่วยเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยง ในจมน้ำเพิ่มมากขึ้น

                    “ปัญหาการจมน้ำในเด็ก มักเกิดในช่วงปิดเทอม จึงเร่งส่งเสริมการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ที่จะประเมินความเสี่ยง ระวังเท่าทัน และสามารถปกป้องตัวเองจากการจมน้ำได้ รวมถึงขยายให้เกิดทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ป้องกันการจมน้ำ ที่สามารถกระจายทำงานได้ดีในชุมชนต่าง ๆ เกิดความปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และเยาวชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

                    รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาการจมน้ำในเด็กแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี หมายถึงเด็กต้องมีผู้ดูแล ส่วนเด็กอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงวัยที่ผู้ดูแลต้องคว้าตัวเด็กถึง แต่สำหรับอายุ 6 ปีขึ้น เด็กโตมากขึ้น สามารถเดินไปทำกิจกรรมเองได้ ต้องสอนให้รู้ถึงความเสี่ยง เพิ่มทักษะในการป้องกันดูแลตนเอง เมื่อไปเล่นไกลตัวผู้ดูแล และจากข้อมูลของเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ พบว่า มักเกิดเหตุนอกโรงเรียน และในช่วงเวลาปิดเทอม ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ปัญหาการจมน้ำมาจากความบกพร่องของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หน่วยงานของรัฐ

                    “การจมน้ำของเด็ก หากสืบจะพบว่ามักเกิดในครอบครัวที่บกพร่อง ทั้งขาดรายได้ ยากจน ขาดคนดูแลใกล้ชิด บางครั้งก็เป็นการฆาตกรรมหรือทารุณเด็ก ขณะเดียวกันยังมีบริบทของสภาพแวดล้อมเข้ามาเป็นตัวแปร หากเกิดในแหล่งน้ำในชุมชน ไม่มีการประเมินความเสี่ยงของแหล่งน้ำ หรือสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ก็ทำให้เกิดความเสี่ยง เพราะความลึกของแหล่งน้ำในแต่ละพื้นที่ สำหรับเด็กในแต่ละกลุ่มวัยก็ไม่เท่ากัน” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

                    นอกจากนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์  กล่าวว่า การสื่อสารเรื่องการจมน้ำ ไม่ใช่แค่มิติของความรู้ที่ให้แก่ครอบครัว ชุมชนเท่านั้น แต่ต้องมีการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งสามารถทราบได้จากข้อมูลการรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดของรัฐบาล เพราะคนกลุ่มนี้ ไม่มีความรู้ ไม่มีเวลาในการดูแลลูก อาจมาจากความไม่พร้อม ฉะนั้นปัญหาการจมน้ำของเด็กมีทั้งมิติครัวเรือน มิติชุมชน และมิติของสภาพแวดล้อม ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ดูแลสภาพแวดล้อมในชุมชนสามารถช่วยและมีบทบาทในการป้องกันได้

                    ปัญหาการจมน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่เพิ่งมีขึ้น การเติมความรู้ ทั้งป้องกัน ช่วยเหลือตนเอง และผู้อื่นถูกปลูกฝังในสถานศึกษา แต่ดูเหมือนว่ายังไม่พอ เพราะหากวิเคราะห์รากของปัญหาการจมน้ำ มีหลายหลากมิติ ดังนั้น ต้องอุดช่องโหว่ ประเมินสภาพแวดล้อม ลดความเสี่ยงในมิติครอบครัว สร้างชุมชนที่แข็งแกร่ง  ก็อาจทำให้เป้าหมาย ลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำเหลือ 290 คนต่อปีได้ ไม่ไกลเกินฝัน

Shares:
QR Code :
QR Code