จดทะเบียนต่างด้าวรอบใหม่ ดึงแรงงานเข้าระบบ

จากปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและลักลอบทำงานที่กระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งมีการคาดกันว่ามีประมาณ 2,000,000คน ส่งผลต่อประเทศทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขประกอบกับในภาคอุตสาหกรรมบางประเภทกิจการมีการขาดแคลนแรงงานระดับล่างเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานที่มีลักษณะงานที่สกปรก เสี่ยงอันตรายและงานที่หนัก เช่นก่อสร้าง ประมง กิจการที่ต่อเนื่องกับเกษตรกรรม

ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงได้เสนอมาตรการในการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2554 ให้ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน15ปี ที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทย ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1ปีจัดทำทะเบียนราษฎรคนต่างด้าว และอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวในระหว่างการส่งกลับ

ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการดังกล่าวจะมีนายจ้าง/สถานประกอบการประมาณ 200,000 ราย มายื่นขอใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวแรงงานต่างด้าวจะเข้าสู่ระบบประมาณ 80% และหากพ้นกำหนดระยะเวลาที่กำหนดแรงงานต่างด้าวที่ไม่เข้าสู่ระบบจะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง

โดยที่ผ่านมา นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เป็นประธานในการประชุมสัมมนามาตรการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชาตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางานเปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติ พม่า ลาวกัมพูชา รวมทั้งผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 15 ปีการจดทะเบียนในครั้งนี้จะดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงเป็นอันดับแรก เศรษฐกิจเป็นอันดับสอง และสังคมเป็นอันดับสามเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งได้ทราบจำนวนที่แท้จริงสามารถตรวจสอบติดตามและควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลดีต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม

ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานมีการประสานงานกันเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่นายจ้าง/สถานประกอบการมากที่สุด โดยตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ one stop service เร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงานและลดการใช้เอกสารให้มากที่สุดรวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อป้องกันการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างด้าวรายใหม่เข้ามาทำงาน รวมทั้งป้องกันการหลบหนีนายจ้าง

หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังทั้งนายจ้าง ผู้ให้ที่พักพิงรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและตัวแรงงานต่างด้าว หากถูกตรวจพบขณะทำงานนายจ้าง/สถานประกอบการ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวหนึ่งคนส่วนแรงงานต่างด้าวจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โครงการดังกล่าว สามารถเริ่มดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2554เป็นต้นไปโดยนายจ้างจะต้องมายื่นคำร้องขอจ้างคนต่างด้าว (แบบ ท.ต.1) ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1-10 ที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงาน

กรมการจัดหางาน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รีบมาดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาวกัมพูชา เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในการให้บริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1-10 สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว โทร.0-2354-1767 หรือศูนย์มิตรไมตรี กรมการจัดหางาน โทร.1694

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code