งูกัดปฐมพยาบาลอย่างไร?
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการถูกงูกัดหลายราย พบว่าอายุระหว่าง 10-39 ปี ถูกงูกัดมากกว่าช่วงอายุอื่น และผู้ชายจะถูกงูกัดมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า ยกเว้นงูเขียวหางไหม้ ที่ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสถูกกัดเท่าๆ กัน
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด
หลังถูกงูกัดจะต้องปฐมพยาบาลทันทีก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยมักจะทำเอง ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูง คำแนะนำการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด ได้แก่
- ใช้เชือก ผ้า หรือสายยางรัดแขนหรือขา ระหว่างแผลงูกัดกับหัวใจ (เหนือรอยเขี้ยว 2-4 นิ้วฟุต) เพื่อป้องกันมิให้พิษงูถูกดูดซึมเข้าร่างกายโดยเร็ว ให้รัดแน่นพอที่จะหยุดการไหลเวียนของเลือดดำ ควรคลายเชือกทุกๆ 15 นาที โดยคลายนานครั้งละ 30-60 วินาที จนกว่าจะถึงสถานพยาบาล
- เคลื่อนไหวแขนหรือขาส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ควรจัดตำแหน่งของส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ระดับต่ำกว่าหัวใจ (เช่น ห้อยเท้าหรือมือส่วนที่ถูกงูกัดลงต่ำ) ระหว่างเดินทางไปสถานพยาบาล อย่าให้ผู้ป่วยเดิน ให้นั่งรถหรือแคร่หาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของพิษงู
- ควรดูให้รู้แน่ว่าเป็นงูอะไร แต่ถ้าไม่แน่ใจ ควรบอกให้คนอื่นที่อยู่ในที่เกิดเหตุช่วยตีงูให้ตาย และนำไปยังสถานพยาบาลด้วย (อย่าตีให้เละจนจำลักษณะไม่ได้)
- อย่าให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาดองเหล้า หรือกินยากระตุ้นประสาท รวมทั้งชา กาแฟ
- อย่าใช้ไฟหรือเหล็กร้อนจี้ที่แผลงูกัด และอย่าใช้มีดกรีดแผลเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมาก
- ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ (จากงูที่มีพิษต่อประสาท) ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด
- สำหรับบาดแผลให้ใช้ยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบาดแผล ถ้ารู้สึกปวดแผล ให้กินพาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
ความแตกต่างระหว่างงูพิษกับงูไม่มีพิษ
งูพิษ มีเขี้ยว 1 คู่ อยู่ตรงขากรรไกรบน เขี้ยวมีลักษณะเป็นรูกลวงคล้ายเข็มฉีดยา มีท่อติดต่อกับต่อมน้ำพิษ เมื่องูพิษกัดคนหรือสัตว์ ต่อมน้ำพิษจะปล่อยพิษไหลมาตามท่อ และออกทางปลายเขี้ยว คนที่ถูกงูพิษกัดจะพบรอยเขี้ยวเป็นจุด 2 จุด ตรงบริเวณที่ถูกกัด
งูไม่มีพิษ จะไม่มีเขี้ยว มีแต่ฟัน เมื่อกัดคน จะเป็นแต่รอยถลอกหรือรอยถากเท่านั้น จะไม่พบรอยเขี้ยว เช่น งูก้นขบ งูแสงอาทิตย์ งูปี่แก้ว งูเขียวปากจิ้งจก งูลายสาบ งูลายสอ งูงอด งูเหลือม และงูหลาม (2 ชนิดหลังตัวใหญ่ สามารถรัดลำตัว ทำให้ตายได้)