งานอาสาเปลี่ยนชีวิต
ที่มา : แฟนเพจพุทธิกา ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา
ภาพประกอบจากแฟนเพจพุทธิกา ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา
งานอาสาที่เปลี่ยนชีวิต ชีวิตที่เปลี่ยนสังคม กับเครือข่ายพุทธิกา
"เราทำงานออกแบบเสื้อผ้าให้บริษัทที่สุดท้ายอยู่ 4 ปี ก็ลาออก เพราะเครียดมากและเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราอาจไม่ได้อยากเป็นดีไซน์เนอร์หรือชอบแฟชั่นขนาดนั้น ตอนลาออกเราไม่ได้ตั้งโจทย์อะไรกับชีวิต เป็นช่วงกึ่ง ๆ ตามหาตัวเอง รู้แค่ถ้าเจออะไรที่อยากทำก็จะทำ เราไปเที่ยว ไปเข้าคอร์สใช้ชีวิตเรียบง่ายกับพี่โจน จันใด ไปเรียนย้อมสีผ้าธรรมชาติ ทำอะไรก็ตามเพื่อความสบายใจของตัวเอง"
"ปีที่แล้วเราเห็นประกาศรับสมัครจิตอาสาทำศิลปะกับเด็กที่โรงพยาบาล ไม่เข้าใจรูปแบบของการทำจิตอาสามากนักแต่เห็นว่าเกี่ยวกับศิลปะ ได้วาดภาพระบายสีกับเด็ก คิดแค่ว่าศิลปะคือสิ่งที่ชอบ น่าสนุก และถ้ามันจะสร้างประโยชน์อะไรได้ก็อยากลองดู"
"ก่อนเข้าไป จินตนาการว่าต้องเป็นงานที่หนักแน่ ๆ ในหัวมีภาพเด็กเดินมาพร้อมสายน้ำเกลือ ร้องไห้แน่ถ้าเจอกับความเซนส์ซิทีฟแบบนั้น พอมาเจอจริง ๆ เขาก็เหมือนกับเด็กทั่วไป บางคนถ้าไม่เปิดเสื้อให้ดูก็ไม่เห็นว่ามีเข็มเสียบอยู่ข้างในด้วยซ้ำ เป็นมุมที่อาสาคุยกันตลอดเลยว่า เวลาผู้ใหญ่ป่วยเรามีเรื่องให้ต้องเครียดเยอะมาก แต่กับเด็กจะไม่เคยคิดเยอะ เจ็บก็ร้องไห้ เสร็จแล้วก็ไปเล่นต่อ"
เราเคยคิดว่าเราไม่คาดหวังอะไรจากการทำจิตอาสา คิดแค่ว่ามันสนุกและเราทำประโยชน์ได้ มีอยู่วันหนึ่ง พี่ ๆ จากพุทธิกาเข้ามาสรุปบทเรียน ถามเราว่ารู้สึกอย่างไรบ้างที่ทำมา เราบอกว่า บางครั้งเรากลับบ้านด้วยความรู้สึก ‘ไม่ฟิน’ พี่เขาถามว่าแล้วเราคาดหวังอะไรจากงานนี้? เราเลยรู้ว่าจริง ๆ เราก็มีความคาดหวังของเรานะ เราอยากจะกลับบ้านด้วยความรู้สึกเป็นฮีโร่ รู้สึกว่าเราได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่ในบางวัน กิจกรรมมันก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ ของมัน เราผิดหวังที่ไม่รู้สึกว่า ‘ดีใจจังที่ได้มาทำ’ ขนาดนั้น ซึ่งเมื่อเกิดคำถามนี้แล้ว เราเลยได้ย้อนมองตัวเองว่า ภายใต้การกระทำ ใต้ความรู้สึกนึกคิดของเรา เราซ่อนอะไรไว้
"สำหรับเรา งานอาสาไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนยิ่งใหญ่ในชีวิตขนาดนั้น แต่เป็นเหมือนสนามให้ไปลองวิชา แต่ก่อนจะลงสนาม พุทธิกาให้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อสำรวจความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันสำคัญที่จะได้รู้จักตัวเองให้มากขึ้น ทำให้อยากพัฒนาตัวเอง ความคาดหวังเป็นโจทย์ของเรามาแต่ไหนแต่ไร เรากลัวคนมองว่าเราไม่ดี ไม่เก่ง หรือแม้แต่ความกลัวว่าบางอย่างจะมาขวางไม่ให้เราเลือกทำบางสิ่ง ระหว่างเป็นอาสา เราเห็นอุปสรรคจากตัวเองหลาย ๆ อย่าง บางครั้งนั่งอยู่แล้วมันก็ปิ๊งขึ้นมาเลยว่า เออ… เราเป็นแบบนั้นนะ"
"พี่อาสาหลายคนบอกไว้ว่า อาสาส่วนใหญ่มองว่า ‘ฉันมาให้’ และจะมีความสุขต่อเมื่อมีคนรับ ซึ่งบางครั้งมันเป็นการยัดเยียด เธอต้องรับฉันจึงจะมีความสุข แต่พอทำจริง ๆ พวกเขากลับรู้สึกเป็นผู้รับมากกว่า เพราะได้เรียนรู้จากการทำงาน พอมาทำเองก็รู้สึกแบบนั้นจริง ๆ เราตัวเล็กลง จากที่เคยคิดว่าฉันเป็นฮีโร่ ฉันตัวใหญ่ แต่จริงๆ ก็เหมือนเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ได้ไปเรียนรู้จากน้องๆ โดยเฉพาะกับเพื่อนอาสาซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อความรู้สึกมาก เหมือนได้เติมพลังบางอย่างกลับคืน" คุณสุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ ดีไซเนอร์ ,อาสาศิลปะเพื่อเด็กป่วย