‘งานสาธารณสุขชายแดน’ ดูแลสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
สสส.ชวนเรียนรู้ "งานสาธารณสุขชายแดน" ดูแลสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อุ้มผาง
บริเวณเส้นแบ่งชายแดนระหว่างไทยและพม่านั้น มีคนกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกันไม่ใช่เพียงคนไทยเท่านั้น ดังเช่นพื้นที่ อ.อุ้มผาง จ.ตากมี 4 ชาติพันธุ์ คือ ไทย ม้ง ปกากะญอ และโพล่วซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังพบความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะ ด้วยปัญหาของสิทธิตามกฎหมาย และการพิสูจน์สถานะบุคคลเพื่อการเข้าถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับ กรมขนส่งทหารเรือ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนจิตอาสา ร่วมจัดโครงการบริจาคยาและคัดแยกยาและเวชภัณฑ์เพื่อสนับสนุนงานสาธารณสุขของโรงพยาบาลอุ้มผาง และโรงพยาบาลใกล้เคียง พื้นที่จ.ตาก และลงพื้นที่ดูงานบ้านเลตองคุ หวังเปิดโอกาสให้ร่วมเรียนรู้กลุ่มชาติพันธุ์และประชากรที่หลากหลายตามวัฒนธรรมชาวบ้านปกากะญอ
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9)สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางสุขภาพ การดำเนินชีวิตของประชาชน ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ"ประชากรกลุ่มเฉพาะ" เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยทำงานผ่านแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะและไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากความแตกต่าง อาทิ กิจกรรมรับบริจาคยาและเปิดรับอาสาสมัครจิตอาสาร่วมคัดยาส่งไปสนับสนุนและสานต่องานดูแลสุขภาพชายแดน ที่โรงพยาบาล(รพ.)อุ้มผาง จ.ตาก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเติมเต็มช่องว่างด้านสาธารณสุข ตลอดจนร่วมเรียนรู้ เข้าใจความหลากหลายชาติพันธุ์และตัวตนของประชากรกลุ่มเฉพาะร่วมกัน
ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการรพ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า พื้นที่อ.อุ้มผางโดยภาพรวมประชากรอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีฐานะยากจน รูปแบบของโรคภัยไข้เจ็บมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในประเทศที่นี่พบโรคมาลาเรียสูงเป็นอันดับ 1 ของไทย หรือแม้แต่โรคโปลิโอ โรคขาดสารอาหาร โดยรพ.มีแนวทางการดูแลป้องกันควบคู่ไปกับการรักษาเป็นไปตามภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขและสอดคล้องกับการทำงานของ สสส.ที่จะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพไปพร้อมกับการควบคุมโรคและนับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีได้ทรงเล็งเห็นถึงปัญหา ความยากจนขาดโอกาสทางการศึกษา การเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการศึกษาและสาธารณสุขของประชาชน จึงทรงดำเนินการให้จัดตั้ง โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน(ตชด.)ขึ้นในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลทั่วประเทศ และในพื้นที่อุ้มผางจ.ตาก ก่อตั้ง สุขศาลาพระราชทาน เลตองคุ ในพื้นที่โรงเรียนตชด.เมื่อปี 2550 ถือเป็นโครงการดูแลสาธารณสุขเบื้องต้นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ และรพ.อุ้มผางในด้านบุคลากรและยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ในสุขศาลา และได้รับเงินบริจาคจากเอกชนที่มีจิตอาสาหลายแห่งที่ร่วมกันสนับสนุน
นพ.วรวิทย์ยังเปิดเผยสถานการณ์การเข้าถึงการรักษาชายแดนเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประชากรในพื้นที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ยังประสบปัญหา"โรคสถานะบุคคล" คือ คนในพื้นที่ยังไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่เหมาะสมหรือสิทธิตามสถานะที่ควรได้รับ อาทิกลุ่มคนที่ไม่มีหลักฐานทางราชการ เช่น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าลึกๆ เดินทางยากลำบากจึงไม่ได้แจ้งเกิด หรือคนชายขอบ เกิดจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการแบ่งอาณาเขตระหว่างไทยกับพม่า แต่มีการข้ามมารับจ้างฝั่งประเทศไทยซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ
"ทางรพ.และคณะทำงานจากคณะนิติศาสตร์ม.ธรรมศาสตร์ร่วมดำเนินเรื่องนี้ โดยก่อตั้ง "คลินิกกฎหมาย"เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ หากเมื่อได้สัญชาติที่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว จะได้รับสิทธิรักษาตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่โดยรวมของคนในพื้นที่รวมทั้งยังเป็นการป้องกันรักษาโรคไม่ให้เกิดการกระจายเข้าสู่เขตเมืองพร้อมทั้งเชื่อมโยงระหว่างสิทธิทางกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องการศึกษา ฯลฯที่จะตามมาอีกด้วย" นพ.วรวิทย์ กล่าวปิดท้าย
ด้านนางจันทร พันศร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพชุมชนรพ.อุ้มผาง เล่าถึงการทำงานในพื้นที่ว่า ปัญหาในพื้นที่อุ้มผาง นอกจากปัญหาโรคติดต่อแล้ว ยังมีภาวะทุพโภชนาในแม่และเด็กในพื้นที่นี้ และผู้รับบริการของที่นี่จะมีปะปนกันทั้งจากนอกเขตของฝั่งประเทศไทย(เขตชายแดนพม่า) โดยปัญหาที่พบคือ เด็กไม่ได้รับการบันทึกข้อมูลการเกิด เพราะการทำคลอดตามแนวชายแดนจะทำโดยหมอตำแย ทำให้เกิดปัญหาการไม่แจ้งเกิดส่งผลถึงการรับวัคซีนไม่ตรงช่วงอายุ หรือการป้องกันโรคทำได้ไม่ครอบคลุม
หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพฯ กล่าวว่า รพ.อุ้มผางได้คิดค้น "ชุดคู่มือทำคลอดและพัฒนาแบบฟอร์มรายละเอียดข้อมูลการเกิด"ให้กับหมอตำแยในพื้นที่ เพื่อบันทึกข้อมูลได้แก่ ข้อมูลชื่อหญิงตั้งครรภ์ วันเดือนปีที่คลอด น้ำหนักตัวแรกเกิดของทารก ฯลฯ ซึ่งปัจจุบัน รพ.มีการอบรมแม่ตำแยทั้งชาวไทยและพม่า เป็นคนไทยจำนวน168 คน และหมอตำแยข้ามแดน 48 คน ซึ่งประโยชน์จากการจัดทำใบแจ้งเกิดนี้เอง ทำให้ทราบถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ หากเป็นประชากรไทยจะได้สิทธิในการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่เหมาะสมและปัจจุบันมีเด็กในพื้นที่แจ้งเกิดผ่านหมอตำแยแล้วกว่า 148 คน
จากการทำงานเชิงรุกโดยการให้บริการสาธารณสุขพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า จะเห็นว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นี้มีเป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนทุกคนในพื้นที่เท่าเทียมกันภายใต้หลักมนุษยธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นทางของการสกัดป้องกันโรคที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่อในพื้นที่และลดการแพร่กระจายเข้าสู่เขตเมือง พื้นที่อ.อุ้มผางจึงถือเป็นการทำงานตัวอย่างที่สร้างนวัตกรรม สร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของทุกคนทุกกลุ่มชาติพันธุ์พร้อมตอบสนองความต้องการที่ตรงจุดและดูแลปัญหาเชิงพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกพื้นที่หนึ่ง