งานวิจัยพบคนไทยได้แคลเซียมไม่พอ

แพทย์ผู้คว้าผลงานวิจัย ม.มหิดล ชี้คนไทย 50%ได้รับแคลเซียมต่อวันน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ แนะดื่มนม ออกกำลังกาย ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น พร้อมขยายงานวิจัยไปสู่ระดับนาโนเพื่อกระดูกเทียมช่วยรักษาผู้ป่วยกระดูกหัก กระดูกพรุน

งานวิจัยพบคนไทยได้แคลเซียมไม่พอ

มหาวิทยาลัยมหิดลประกาศผลงานวิจัยดีเด่นสาขาการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการและประชาชนประจำปีนี้มอบให้แก่ รศ.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา และหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากโครงการวิจัยเรื่องการวิจัยบูรณาการด้านแคลเซียมและกระดูก โดย รศ.นพ.นรัตถพลจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรวันที่ 4กรกฎาคมนี้ ณ หอประชุมกองทัพเรือ

รศ.นพ.นรัตถพล แพทย์นักวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก ให้สัมภาษณ์ว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวเน้นศึกษาหาแนวทางป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูกและกระดูกพรุน จากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงหลังหมดประจำเดือน ภาวะเลือดเป็นกรด โรคธาลัสซีเมีย และภาวะเครียดและซึมเศร้า เพื่อศึกษาองค์ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับกลไกที่ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเพื่อนำไปสร้างกระดูก ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการรักษาแบบใหม่ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ยังศึกษาผลดีของการออกกำลังกายต่อการดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร ซึ่งพบหลักฐานที่ยืนยันว่า การออกกำลังกายที่ไม่หักโหมอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น

ขณะนี้ได้ต่อยอดงานวิจัยศึกษาวัสดุนาโนสำหรับทำกระดูกเทียม โดยร่วมมือกับนักฟิสิกส์ออกแบบและพัฒนาวัสดุนาโนรูปผลึกคล้ายแคลเซียมในกระดูก ซึ่งช่วยในการทำให้เซลล์กระดูกยึดเกาะติดกันและปล่อยสารเร่งสร้างกระดูกเร็วขึ้น กรณีผู้ป่วยกระดูกหักจะใช้วัสดุนาโนเข้าไปสมานแผลและปล่อยยาฆ่าเชื้อโรคในจุดที่กระดูกแตกหักได้ด้วย ผลการทดลองเบื้องต้นในห้องแล็บเสร็จแล้ว ซึ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารวิชาการนานาชาติด้วย

รศ.นพ.นรัตถพลกล่าวว่า แคลเซียมเป็นองค์ประกอบหลักที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก แต่หากร่างกายของเราไม่สามารถรักษาสมดุลของแคลเซียมได้ ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกตามมามากมาย การดูดซับแคลเซียมของเรามักจะดูดซับได้แตกต่างกันไปตามวัยและสภาพร่างกายของแต่ละคน เมื่ออายุมากก็จะมีโอกาสสูงที่มีปัญหาเรื่องกระดูก ดังนั้นตลอดช่วงเวลาที่ทำวิจัยเรื่องนี้ ตนพยายามที่จะค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำให้คนไทยมีร่างกายแข็งแรง จึงได้ทุ่มเทศึกษาเกี่ยวกับกลไกการควบคุมสมดุลแคลเซียมทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและการรักษาภาวะเสียมวลกระดูก แต่วิธีป้องกันดีกว่าการรักษา โดยจะต้องดื่มนมเป็นประจำและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยยืนยันตรงกันว่า การออกกำลังกายทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

“ปกติแล้วร่างกายคนทั่วไปต้องการแคลเซียมปริมาณ 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตรต้องการ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน แต่คนไทยประมาณ 50% ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การดูดซึมแคลเซียมของร่างกายจากการบริโภคอาหารมีเพียงปริมาณน้อย คิดเป็น 20-30% เท่านั้น แคลเซียมส่วนที่เหลือจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายหมด แคลเซียมในร่างกายจึงมีเพียงจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับอาหารที่เรารับประทาน ดังนั้นคนไทยควรจะต้องดื่มนมเพิ่มขึ้น แต่บางคนที่ดื่มแล้วท้องเสีย ก็ขอแนะนำกินปลาตัวเล็กๆ เช่น ปลากรอบ และอาหารประเภทธัญพืช ซึ่งมีแคลเซียมสูง สำหรับแคลเซียมในผักยังไม่มีรายงานว่ากินไปแล้วร่างกายดูดซึมได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีการวิจัยเรื่องนี้ต่อไปเพื่อคนไทยก็จะได้รับแคลเซียมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย” รศ.นพ.นรัตถพลกล่าว

แพทย์นักวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก กล่าวอีกว่า ส่วนผลงานวิจัยที่คาดว่าจะทำได้สำเร็จเป็นเรื่องแรกคือ วิธีการให้แคลเซียมเสริมในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งแคลเซียมที่ให้เสริมนี้มีประสิทธิภาพช่วยลดการใช้แคลเซียมจากกระดูกของแม่เพื่อนำมาสร้างน้ำนม ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มมวลกระดูกให้กับแม่ที่กำลังให้นมได้ในระยะยาว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือยาแคลเซียมต้นแบบในห้องทดลองกับสัตว์และมนุษย์ เพื่อให้สตรีที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ได้รับแคลเซียมนำไปสร้างกระดูกให้ลูกในท้อง เด็กและแม่ก็จะได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ซึ่งรูปแบบการรับประทานยาแคลเซียมดังกล่าวได้ศึกษาเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้มากที่สุด ส่วนยาแคลเซียมที่มีอยู่ในปัจจุบันมีราคาสูงและไม่ได้กินอย่างเหมาะสม ร่างกายจึงขับทิ้งไปเยอะมาก ในเบื้องต้นยาแคลเซียมที่กำลังวิจัยอยู่นี้จะมีราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป เพื่อให้เข้าถึงคนจำนวนมาก

 

 

ที่มา :  หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code