‘งานบ้าน’ พัฒนาสมองมากกว่า ‘การบ้าน’

ที่มา : สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'งานบ้าน' พัฒนาสมองมากกว่า 'การบ้าน' thaihealth


"หมดสมัยแล้วกับระบบการศึกษาที่มุ่งสอนเพื่อมอบความรู้ในโลกยุคไอที เด็กยุคใหม่ต้องรู้ว่าจะเป็นอะไร รู้จักกำหนดเป้าหมายของตัวเองและไปให้ถึงเป้าหมาย โดยไม่วอกแวก"


ความบางตอนที่ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน บรรยายพิเศษในหัวข้อ 'EF จะพาเด็กไทยออกจากวิกฤติอย่างไร' จากเวทีประชุมวิชาการ EF Symposium 2017 เรื่อง "สมองเด็กไทย รากฐานทุนมนุษย์เพื่ออนาคตประเทศ"โดยภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership สถาบันอาร์แอลจี (รักลูกเลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อต่อยอดฐานความรู้ทางวิชาการ ด้านการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า หรือ Executive Functions (EF) และถอดบทเรียนเพื่อขับเคลื่อนงาน ทั้งจากการปฏิบัติจริงและการศึกษาจากงานวิจัย เพื่อเป็นการผลักดันแนวทางการส่งเสริม EF สู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม


นพ.ประเสริฐกล่าวถึง ทักษะ Executive Functions (EF) คือความสามารถของสมองระดับสูง ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ซึ่งโอกาสทองของการพัฒนาทักษะทางสมองส่วนหน้า ต้องพัฒนาตั้งแต่ก่อน 7 ขวบเพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนามากที่สุด แต่เด็กไทยสมองถูกทำลายตั้งแต่อนุบาล ด้วยระบบการศึกษาที่เร่งเรียนตั้งแต่ 3 ขวบ


'งานบ้าน' พัฒนาสมองมากกว่า 'การบ้าน' thaihealth


วิธีการฝึกทักษะสมองส่วนหน้าให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก นพ.ประเสริฐ แนะนำว่าในเด็ก 2 -7 ขวบ การเล่นและฝึกให้ทำงานบ้านทุกชนิดเป็นการฝึกทักษะทางสมองที่ดีที่สุด การทำงานบ้านทุกชนิด เป็นสถานการณ์ท้าทายที่ต้องวางแผนที่ซับซ้อน เพราะต้องทำให้เร็วพอและพ่อแม่จะไม่บ่น เช่น ล้างจานแบบไหนที่แม่ไม่บ่นทำงานบ้าน 4 อย่างให้เร็วภายใน 45 นาทีได้อย่างไร เพื่อจะได้ออกไปเล่น การทำงานบ้านจึงเป็นการพัฒนาทักษะสมองมากกว่าการทำการบ้าน ส่วนในเด็กประถมวิธีฝึกพัฒนาการทางสมอง คือการสอนโดยใช้โจทย์เป็นฐาน ซึ่งการพัฒนา EF สร้างได้ในเด็กทุกคน ทุกแห่ง เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู เช่น อ่านนิทานให้ฟังก่อนนอน เล่นให้เยอะ ทำงานบ้านให้มากเพื่อให้รู้จักควบคุมตนเอง


เช่นเดียวกับ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และประธานกรรมการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม กล่าวบรรยายพิเศษเรื่องEF กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ว่า การปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ ถือเป็นการฝึกฝนการใช้ทักษะ EF ได้สูง เนื่องจากเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning คือเด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้เกิดกระบวนการไตร่ตรองสะท้อนความคิดจนสามารถนำไปปรับใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้ ดังนั้น การเรียนรู้แบบท่องจำ หรือการรับความรู้ที่สำเร็จมาแล้วจึงไม่ถือเป็นการฝึกทักษะ EF การส่งเสริมการใช้ทักษะ EF จึงเป็นการเปิดประตูการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21


'งานบ้าน' พัฒนาสมองมากกว่า 'การบ้าน' thaihealth


สำหรับสถานการณ์ EF ของเด็กไทย จากรายงานผลพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย ตุลาคม 2559 โดยศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว หรือการวัด EF ในเด็กอายุ 2-6 ปี จำนวน 2,965 คน กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่า มีเด็กเกือบ 30% มีปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหารน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมีปัญหาในการกำกับตนเอง ทำโดยไม่คิด ใจร้อนรอคอยไม่เป็น วอกแวกง่าย ไม่สามารถทำงานยากให้สำเร็จ


นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการ สสส. กล่าวว่า เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม เพราะไม่ถูกพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า ในระยะยาวจะเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จด้านการเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งมีโอกาสเกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา แนวทางสำคัญคือ ระบบการสอนและการดูแลเด็กปฐมวัย ไม่ควรเร่งเรียนเขียนอ่านเพียงอย่างเดียวเพราะทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกคิด ฝึกตัดสินใจ และฝึกกำกับตนเองไปสู่เป้าหมาย ครูผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ควรมีความรู้ในการสามารถสังเกตและประเมินพัฒนาการเด็ก ตลอดจนจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก


…เพราะการพัฒนาสมองสร้างได้ในเด็กทุกคน ทุกแห่ง ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ขอเพียงแค่เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูอย่างเข้าใจ

Shares:
QR Code :
QR Code