“งดเหล้าเข้าพรรษา 51” ทำดีถวายในหลวง
วอนทุกฝ่ายร่วมมือ หวังลดนักดื่มขาประจำ
ทุกๆ วันสำคัญต่างทางพระพุทธศาสนาคนไทยส่วนใหญ่มักไปทำบุญตักบาตรกันที่บ้านบ้างที่วัดบ้าง เป็นการทำให้จิตใจสงบขึ้นได้ การทำแบบนี้คือสิ่งที่มีการทำสืบทอดกันมาเป็นประเพณี และวัฒนธรรมไปแล้ว แต่สำหรับ พุทธศักราช 2551 นี้ เราพบการทำดีอีกอย่างก็คือการลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ นอกจากจะมีการทำกันในระดับบุคคล ครอบครัวแล้ว ระดับองค์กรอย่าง เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้รณรงค์เรื่องนี้มาตลอดเช่นกัน
โดยเฉพาะใน“วันเข้าพรรษา” ที่เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้จัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการให้คนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ห่างไกลจากแอลกอฮอล์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในปี 51 นี้นับเป็นปีที่ 7 แล้วที่ได้ดำเนินการรณรงค์
โดย นพ.
“ทั้งนี้แม้ว่าภาพรวมของการดื่มสุราของคนไทยในรอบ 7 ปี ที่ผ่านมา จะมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 32.7 เป็น 29.3 แต่ทั้งนี้การดื่มในกลุ่มเยาวชนยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ โดยวัยรุ่นกลายเป็นนักดื่มประจำที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และอาจจะสร้างปัญหาต่อไปในอนาคตได้ หากยังไม่รีบหาทางแก้ไข” นพ.อุดมศิลป์ กล่าว
นอกจากนี้ ประธานองค์กรเครือข่ายงดเหล้ายังกล่าวต่ออีกว่า จากผลสำรวจในปีที่ผ่านๆมานั้น ไม่พบเด็กอายุ 11-14 ปี ดื่มสุรา แต่ในปี 49 เริ่มพบเยาวชนดื่มสุราเป็นประจำเพิ่มเป็น 0.3 % โดยในช่วงอายุ 15-19 ปีนั้น มีนักดื่มประจำเพิ่มจาก 4.7 % เป็น 6.8 % และช่วงอายุ 20-24 ปี เพิ่มจาก 15% เป็น 19.3 % ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มาชี้ชัดว่า เด็กไทยเรานั้นเริ่มดื่มสุราก่อนอายุ 13 ปี ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะติดแอลกอฮอล์ไปจนโต แต่ในทางตรงข้าม หากพวกเขาเหล่านั้นเลิกดื่มได้ในวัย 21 ปี ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาต่างๆที่จะตามมาจากการดื่มดังกล่าวก็จะลดลงถึง 70 %
โดยในส่วนของการจัดกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา 2551 ในปีนี้ จุดประสงค์หลักเพื่อต้องการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจัดให้มีการปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อทำดีถวายในหลวง ภายใต้ชื่อ “ปฏิญาณตนคนบวชใจ งดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อทำความดีถวายในหลวง” โดยงานจะมีขึ้นในวันที่ 10 ก.ค. 51 ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ซึ่งจะมีผู้บวชใจจากชุมชนในพื้นที่กทม. และจะมีการปฏิญาณตนทั่วประเทศ
“ในปีนี้ จะมีผู้เข้าร่วมปฏิญาณตนพร้อมกัน ประมาณ 500 คน พร้อมญาติพี่น้องและภาคีความร่วมมือต่างๆ รวมแล้วน่าจะประมาณ 700 คน เพื่อเป็นการเปิดตัวโครงการดังกล่าวไปด้วย อีกทั้งจะให้เป็นสัญญาณให้อีก 75 จังหวัด ดำเนินการรณรงค์ตามอย่าง โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปีนี้ มีคนสมัครเข้าบวชใจทั่วประเทศ 10,000 คน” ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้ากล่าว
นอกจากนี้ ในระหว่างเข้าพรรษา จะมีการจัดเวทีเปิดใจ คนต้นแบบ เลิกเหล้าตลอดชีวิต มาร่วมเสวนาร่วมกับคนในครอบครัว โดยคาดว่าจะมีผู้มาร่วมมากกว่า 100 คน เนื่องจากทางองค์กรงดเหล้ามีสมาชิกคนต้นแบบเลิกเหล้าตลอดชีวิตกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ เพื่อจูงใจให้คนหันมางดเหล้าในช่วงตลอด 3 เดือนที่เข้าพรรษา รวมทั้งชวนให้เลิกตลอดชีวิต โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ซึ่งคาดว่าจะมีเยาวชนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 50 สถาบัน
ด้านน.ส. ปาริชาต สถาปิตานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาแอลกอฮอล์ (คฝอ.) กล่าวว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษานี้ ได้มีการรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2546 แล้ว พบว่ามีคนไทยงดเหล้าตลอด 3 เดือน เฉลี่ยร้อยละ 32.3 หรือคิดเป็น 5-6 ล้านคน ซึ่งพบว่า แม้จะใช้หลากหลายกลยุทธ์ แต่จากข้อมูลการเข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาของคนไทยสลับกันขึ้นลงทุกปีนั้นสัมพันธ์กับกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ที่รุกหนักขึ้น โดยเฉพาะนักดื่มหน้าใหม่ พบว่า กลยุทธ์ธุรกิจน้ำเมาในขณะนี้ได้แทรกซึมในกลุ่มเด็กและเยาวชน ด้วยการเป็นแหล่งทุนสนับสนุนกิจกรรมกับเยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปี ในสถานศึกษา รวมทั้งการรณรงค์ให้เด็กรู้จักเทคนิคการดื่มแบบไม่เมา ซึ่งวงจรที่มาสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นการกระตุ้นการดื่มหรือเป็นการโฆษณาทางอ้อม เพื่อทำให้เด็กเกิดความภักดีต่อแบรนสินค้าที่เคยให้การสนับสนุน อีกทั้งยังได้แทรกซึมการโฆษณาโดยอ้อมผ่านการแทรกโลโก้ในละคร เพื่อหลบหลีกกฎหมาย
“กลยุทธ์การตลาดของธุรกิจน้ำเมาต่างๆ ในสมัยนี้รุกหนักขึ้นทุกวัน เพิ่มจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการ ลด แลก แจก แถมผลิตภัณฑ์เพื่อให้เยาวชนหันมาทดลองดื่ม หรือการนำโลโก้ ยี่ห้อของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปอยู่บน เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ เพื่อให้ติดตา นี่!ยังไม่รวมถึงโฆษณาที่มีอยู่ในโทรทัศน์ที่สร้างออกมาในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อหลบหลีกข้อกฎหมายต่าง อีกมากมาย” น.ส. ปาริชาตกล่าว
สำหรับแนวทางการรณรงค์ในปี 51 นี้ จะเน้นการขับเครื่องมาตรการการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการจุดประกายเชิญชวนให้คนไทยเราคิดในเชิงป้องกันปัญหา โดยการร่วมใจ บวชใจ หรือสัญญากับตนเองว่าจะงดดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา ร่วมทั้งปฏิบัติตน เป็นคนดีของสังคม
“ในส่วนของการลดการดื่มในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นนักดื่มหน้าใหม่ คงต้องขอความร่วมมือกับธุรกิจเอกชนและร้านค้าต่างๆ ให้ร่วมยุติการขายหรือทำกิจกรรมส่งเสริมการขายแอลกอฮอล์ หรือให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปีอย่างจริงจังเสียที เพราะหากร้านค้าไม่ยอมขายให้จะช่วยลดจำนวนนักดื่มที่เป็นเยาวชนลงได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน” น.ส. ปาริชาตกล่าว
ด้านนายชัยธวัช มณีวรณี เครือข่ายเยาวชนนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีธุรกิจน้ำเมาต่างๆ มากมายออกมาเปิดบูธ ให้บริการชิมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฟรี ยิ่งทำให้เยาวชนเกิดความอยากรู้ อยากลองมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ต้องหามาดื่มในภายหลังจนกลายเป็นดื่มประจำไปในที่สุด อีกทั้งขณะนี้มีการส่งเสริมให้มีข้อความที่ท้าทายวัยรุ่นมากขึ้นว่า “ดื่มอย่างสร้างสรรค์ ดื่มอย่างรับผิดชอบ” “โตแล้วทำไมต้องให้ผู้ใหญ่มาชี้นำ” จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังการกระทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์รอบรั้วสถาบันอย่างเข้มงวด โดยต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณะสุข ในการเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ โดยจะนำร่องที่กทม.เป็นแห่งแรก
“โดยในส่วนของการรณรงค์ในปีนี้ ทางเครือข่ายจะร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาในวัดที่อยู่ใกล้กับสถาบันร่วมกับคนในชุมชนรอบวัด รวมถึงการเดินสายเข้าสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้รู้เท่าทันกลยุทธ์ธุรกิจแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน” นายชัยธวัชกล่าว
การที่จะให้แอลกอฮอล์หมดไปมันคงเป็นเรื่องยาก หรือเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษานี้ หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ โดยเฉพาะเยาวชนที่จะไปเป็นอนาคตของชาติต่อไป
ที่มา: ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th
Update 19-06-51