งดเหล้าครบพรรษา ช่วยฟื้นฟูตับได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ยิ่งดริงก์


งดเหล้า..ไม่ต้องรอเข้าพรรษา ไม่ว่าจะเทศกาล หรือวันไหนๆ ต้องให้ตับได้พักบ้าง!!


วลีเด็ด โดนใจ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายงดเหล้า ได้ร่วมกันรณรงค์สังคมไทยให้ ลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มานานกว่า 10 ปี ได้ใช้รณรงค์ชักจูงนักดื่มทั้งหลายให้ลดการดื่ม ในช่วงเข้าพรรษานี้ และต่อยอด เป็น "งดเหล้าครบพรรษา" ซึ่งนักดื่มหลายคนได้ใช้โอกาสวันเข้าพรรษา  ลด ละ เลิก ดื่ม เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ได้สำเร็จ


ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ให้ข้อมูลว่า การเข้าพรรษา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลด ละ เลิก เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักดื่ม โดย สสส. ได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทั้งช่วงเข้าพรรษา และออกพรรษา เพื่อให้มีการรณรงค์ให้ความรู้อันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ประชาชนตลอดทั้งปี ซึ่งจะมีการทำงานในภาคชุมชน ด้วยชุมชนคนสู้เหล้าต่อยอดการทำงานจากเข้าพรรษาไปเทศกาล งานบุญ ประเพณีต่างๆ ในช่วงออกพรรษา เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมภายในชุมชนปลอดเหล้าได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง


"การเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย สสส. ได้พิสูจน์ด้วยการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้โครงการสามารถต่อยอดจากงดเหล้าเข้าพรรษา ไปสู่การงดเหล้าครบพรรษา และเดินทางต่อไปสู่ประเพณีงดเหล้า งานบุญงดเหล้า และยังคงต้องเดินทางต่อไปเพื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของทั้งสังคม" ดร.นพ.บัณฑิต ระบุเทศกาลเข้าพรรษาในปีนี้ สสส. ชวนให้นักดื่มหันมาสนใจ ใส่ใจสุขภาพภายในของตัวเอง "ดื่มมาหนัก พักตับบ้าง" หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า การดื่มเหล้ามากๆ สามารถทำให้เกิดอาการ"ตับแข็ง" ได้ และหากตับพังมากๆ เข้า โรคร้ายที่เรียกว่า "มะเร็งตับ" แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นโลงศพคงไม่หลั่งน้ำตา เพราะคิดว่าดื่มแล้วก็ไม่เห็นว่าร่างกายจะเจ็บป่วยตรงไหน


แต่ความจริงแล้ว "ตับ" คุณกำลังถูกทำลายไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลน่าน อธิบายถึงความสัมพันธ์ของพิษสุรากับการทำลายตับว่า ตับเปรียบเสมือนโรงงานกำจัดของเสียในร่างกาย ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับสารพิษ สารพิษนั้นก็จะถูกส่งมากำจัดที่ตับ ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ ไวน์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพิษทั้งนั้น ก็จะถูกส่งมากำจัดที่ตับด้วย ซึ่งปริมาณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ตับสามารถทำลายพิษจากสุราได้คือ 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน คือ เหล้าแดง 2 ฝา เหล้าขาว 2 เป๊ก และเบียร์ 1 กระป๋อง แต่ในความเป็นจริงคนไทยดื่มต่อวันมากกว่านี้ ซึ่งเมื่อพิษจากสุรามีมากเกินกว่าที่ตับจะทำลายได้ พิษนั้นจึงทำลายเซลล์ตับเสียเอง


"การดื่มเหล้ามากๆ ตับถูกทำลายแน่นอน แต่สาเหตุที่คนเราไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการแสดงออกมาว่าตับถูกทำลายไปแล้ว เนื่องจากเซลล์ตับเป็นเซลล์พิเศษเหมือนไตและปอด คือธรรมชาติได้ให้เซลล์ตับเผื่อไว้ถึง 3 เท่า เพื่อสำรองไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า แม้ตับจะฉีกหายไปครึ่งหนึ่งก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่การดื่มเหล้าเป็นการทำลายเซลล์สำรองเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ทำลายไปทีละน้อย จนกระทั่งเซลล์ตับเหลือน้อยกว่า 40% จึงจะเริ่มมีอาการและถ้าน้อยกว่า25% ตับจะวาย"  นพ.พงศ์เทพ กล่าว 


เมื่อตับไม่แสดงอาการเจ็บปวดว่ากำลังถูกทำลายจากการดื่มเหล้า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้ตับถูกทำลายไปแล้ว นพ.พงศ์เทพ ไขคำตอบว่า สามารถตรวจสอบได้ด้วยการเช็คค่าเอนไซม์ตับ ซึ่งเอนไซม์ ตับจะรั่วออกมาในกระแสเลือดเมื่อตับได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำลาย ซึ่งเอนไซม์ตับมีทั้งหมด 4 ตัว คือ AST ALT GGT และ ALP โดยค่าปกติที่ตรวจพบคือไม่เกิน 35 IU ดังนั้น หากเจาะเลือดตรวจเอนไซม์ตับแล้วพบว่าค่าเกิน 35 IU แสดงว่าคนๆ นั้นเซลล์ตับกำลังถูกทำลาย ซึ่งผลการตรวจค่าเอนไซม์ตับของคนทำงานในสถานประกอบการในจังหวัดน่านที่มีสุขภาพปกติ จำนวน 3,752 คน อายุ 17-65 ปี ระหว่างปี 2556-2558 พบว่า ผู้ชายมีค่าเอนไซม์ตับมากกว่า 35 IU 840 คน คิดเป็น 33.6% ส่วนผู้หญิงพบ 59 คน คิดเป็น 4.7% เท่ากับว่าผู้ชายวัยทำงานเอนไซม์ตับผิดปกติมากกว่าผู้หญิงถึง 7 เท่า ที่สำคัญคือบุคคลกลุ่มนี้ไม่รู้ตัวว่าอนาคตจะมีความเสี่ยงต่อภาวะตับแข็ง


การตรวจเอนไซม์ตับถือเป็นข้อดีที่จะมาช่วยรณรงค์งดเหล้า เลิกเหล้าได้ เพราะช่วยให้คนที่ดื่มเหล้ารู้สภาพตับของตัวเองว่าถูกทำลายอยู่หรือไม่ ยิ่งเมื่อบุคลากรทางการแพทย์อธิบายให้เข้าใจถึงความเสี่ยงทางสุขภาพ โดยพบว่า 60% ยินดีที่จะเข้าระบบการรักษาเพื่อปรับพฤติกรรม คือ ลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่วนใหญ่พบว่าปรับพฤติกรรมแล้วสภาพตับนั้นดีขึ้น เป็นเรื่องดีที่ สสส. และ สคล. จะรณรงค์ใหญ่ทั่วประเทศ "ดื่มมาหนัก พักตับบ้าง" เพราะการงดดื่มเหล้าสามารถช่วยพักตับได้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code