งดขายเหล้าช่วง“สงกรานต์”
ย้ำมาตรการวัดใจผู้มีอำนาจ ชี้ช่วยลดคนตาย
คุณคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ธรรมดาๆ หรือไม่ ถ้าหากพบว่าแต่ละปีจะมีคนพากันไปตายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มากมายถึงหกร้อยเจ็ดร้อยคน แต่ละช่วงก็เป็นจำนวนสามสี่ร้อยคน
คงเดากันไม่ยากนักว่าช่วงใดของปี…ช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์นั่นเอง
แม้ว่าหลายฝ่ายจะเห็นความสำคัญช่วยกันคนละไม้คนละมือช่วยกันรณรงค์อย่างเต็มที่ แต่นักดื่มนักซิ่งทั้งหลายก็ไม่วางวายแต่อย่างใด เห็นได้จากยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา กลับพุ่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีก
ข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปีนี้ตั้งแต่วันที่ 11-16 เม.ย. มีผู้เสียชีวิตรวม 324 ราย มากกว่าปี 50 ทีมีจำนวน 318 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น 1.89%, ผู้บาดเจ็บรวม 4,484 ราย มากกว่าปี 50 ที่มีจำนวน 4,293 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น 4.45% อุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 3,955 ครั้ง มากกว่าปี 50 ที่มีเพียง 3,823 ครั้ง
สาเหตุคงไม่ใช่อื่นไกลถ้าไม่ใช่เรื่องของเมาและขับรถเร็วซึ่งปัจจัยทั้งสองอาจรวมกันอยู่ในคนเดียวด้วยซ้ำ
แนวคิดของท่าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มท.1 ที่ปิ๊งไอเดียว่าให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายในช่วงเทศกาลวันหยุด 2 วันแรกและ 2 วันหลังของวันหยุดเทศกาลสงกรานต์หรือวันหยุดยาว โดยมาตรการดังกล่าวอาจออกในรูปของกฎกระทรวงสาธารณสุข
ความน่าชื่นชมอยู่ที่ท่าน มท.1 ลั่นว่าจะเร่งทำประชาพิจารณ์ให้ทันช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ โดยเร่งขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งผลการทำประชาพิจารณ์ในเรื่องนี้ว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ และเสนอกลับมาที่กระทรวงภายในเวลา 15 วัน ซึ่งท่านย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องถามผู้ประกอบการจำหน่ายสุรา คนขายเหล้าก็ย่อมไม่อยากให้งดจำหน่ายอยู่แล้ว
เหตุที่ต้องคุมเรื่องการขายเครื่องดื่มแอกอฮอล์คงเป็นเพราะกฎหมายที่มีอยู่แต่การบังคับใช้ไม่เกิดอย่างจริงจังและยังพบว่ามีการแหกกฎอยู่
เพราะข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าจับตาการขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในสถานที่ห้ามขาย ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน บริเวณสถานศึกษา และบริเวณศาสนสถาน รวมทั้งบริเวณใกล้เคียง และเวลาที่ห้ามขาย จำนวน 1,073 แห่ง ใน 26 จังหวัดครอบคลุมทั้ง 4 ภาค ตั้งแต่วันที่ 11-16 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า
“ร้านค้า 57% ทำผิดด้วยการขายสุราในช่วงเวลาที่ห้ามขาย คือ 00.00-00.59 น. และ 14.01-16.59 น. โดยเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมากว่า 2 เท่าตัวา และสูงกว่าช่วงปีใหม่ 2551 ถึง 4% ส่วนสถานที่ที่แหกกฎก็คงหนีไม่พ้น ปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน สถานศึกษา โดยเหตุผลที่ขายไม่ใช่เรื่องใด นอกจากอยากมีรายได้เพิ่ม รองลงมาคือ ไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง และไม่ทราบมาก่อนว่าคือกฎหมาย”
เมื่อความคิดที่เป็นประโยชน์กับสังคมสอดคล้องกับข้อมูลความเป็นจริง ในสังคมที่ต้องการให้เกิดการแก้ไข ทำให้เรียกคะแนนเสียงและความชื่นชมจากหลายภาคส่วนอย่างมาก โดยมีเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ เครือข่ายหัวกระทิสร้างสรรค์ และเครือข่ายมัธยมสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ และมูลนิธิเมาไม่ขับ นำโดย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขานุการมูลนิธิฯ ประมาณ 80 คน ตบเท้าไปให้กำลังใจท่าน มท.1 เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนมาตรการดีๆ นี้
ในฐานะผู้ทราบข้อมูลปัญหาพิษภัยของสุราเป็นอยางดี เพราะ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เสนอแนวทางเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรจากความเมาไว้ ดังนี้
1.กำหนดวันและเวลาห้ามจำหน่ายในช่วงเทศกาลเป็นพิเศษเพิ่มเติม ตามมาตรา28 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นายกรัฐมนตรีออกประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกฮอล์แห่งชาติ มาตรการนี้สามารถออกแบบให้มีรายละเอียดเหมาะสมกับการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลได้ เช่น หัวท้ายของวันหยุดเทศกาล ซึ่งเป็นช่วงของการเดินทาง หรือวันที่มีการเสียชีวิตจากเกิดอุบัติเหตุสูงสุด เช่นวันที่ 13 เมษายน หรือ 31 ธันวาคม ของทุกปี 2. กรมสรรพสามิตจำกัดจำนวนการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราประเภท 5 และ 6 ที่อนุญาตให้จำหน่ายสุราแบบชั่วคราวได้ครั้งละ 10 วัน ซึ่งจะมีการออกใบอนุญาตประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นมากในช่วงเทศกาลต่างๆ
ไม่เพียงเท่านี้ คุณหมอบัณฑิตแนะนำอีกว่า ในเมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลบังคับใช้ 14 กุมภาพันธ์ไปแล้ว รวมถึงตามประกาศคณะปฏิวัติ 2515 เพียงแต่เข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจที่มีอยู่ของ รมว.มหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นการไม่อนุญาตให้จำหน่ายสุรา เวลา 14.00-17.00 น. และ 24.00-11.00 น. ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ปี พ.ศ.2515
การจำกัดการเร่ขาย ไม่ให้ขายแบบเร่ไปตามที่ที่คนกำลังเล่นสงกรานต์กันอยู่ ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 3.การห้ามจำหน่ายสุราแก่ผู้ที่อายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ตามมาตรา 29 (1) ของ พ.ร.บ.ควบคุมฯ 2551 และ 4.ห้ามจำหน่ายแก่บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสถิติไม่ได้ ตามมาตรา 29 (2) ของ พ.ร.บ.ควบคุมฯ 2551
จะเห็นว่ากฎระเบียบที่มีอยู่ก็สามารถทำให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยากขึ้น ถึงตอนนี้อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจใช้กฎหมายจะเคร่งครัดและเห็นความสำคัญของชีวิต ครอบครัวที่ต้องสูญสิ้นไปกับฤทธิ์น้ำเมาหรือไม่
เรื่องนี้ต้องติดตามดูต่อไป
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 27-08-51