ฅนไร้บ้านอีกชีวิตของคนอยู่อย่างไม่มี ‘สิทธิ์’
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ช่วงพลบค่ำวันหนึ่งกลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา มีกิจกรรม ชื่อแปลกที่เรียกว่า "เดินกาแฟ" ณ บริเวณศาลหลักเมืองจังหวัดขอนแก่น
"เดินกาแฟ" คือศัพท์ที่คนทำงานประชาสังคมต่างรู้กันดีว่า แท้จริงแล้ว หมายถึงกิจกรรมการลงพื้นที่เพื่อไปพบปะพูดคุยกับพี่น้องคนไร้บ้านตามสวนสาธารณะ หรือสถานที่ต่างๆ ที่เหล่า เพื่อนพ้องคนไร้บ้านมารวมตัวกัน โดยไม่ได้นัดหมาย
นอกจากจะมีของฝากเป็นอาหารและข้าวของเครื่องใช้ติดไม้ติดมือเป็นน้ำใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อกันแล้ว นัยสำคัญของกิจกรรมนี้ ยังแฝงด้วยการติดตาม สำรวจ และ รับฟังปัญหาคนไร้บ้านในพื้นที่ เพื่อนำมาสู่แนวทางในการช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้านอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
"จริงๆ เราเคยพาพี่น้องคนไร้บ้านกลับไปเยี่ยมครอบครัว 4-5 ราย เพราะเราอยากรู้ปัญหาแท้จริง และคืนเขากลับสู่ครอบครัว ก็ไปเจอว่าบางที่ที่เราพาไป ถ้าเป็นเราเองก็คงอยู่ยาก เพราะเต็มไปด้วยปัญหา มีแต่การใช้คำพูดที่ดูถูก ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งสำคัญควรมีการสร้างระบบรองรับ และการป้องกัน ในช่วงก่อนที่เขาจะหลุดก้าวมาสู่โลกคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นฐานครอบครัวหรือชุมชนที่ควรมีเขาอยู่อาศัย" ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่ม เพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ให้ข้อมูล
เขาเล่าว่า จากตัวเลขคนไร้บ้านในจังหวัดขอนแก่นจะมีราวๆ 130-140 คน แต่จะมีที่เข้ามาร่วมเป็น "เครือข่ายกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน" ประมาณ 50-60 คน ส่วนคนที่เหลือยังหลบมุม ไปๆ มาๆ ไม่มีที่อยู่แน่นอน
"ถ้าถามว่าสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการ คืออะไร เท่าที่เราสำรวจพบในพื้นที่ขอนแก่น คนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงเรื่องอยากมีบ้านเท่าไหร่นะ แต่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือการมีรายได้ที่ต่อเนื่องมั่นคง สามารถเลี้ยงตัวเองได้"
แม้คนภายนอกมักมองภาพว่า คนไร้บ้าน ไม่ได้ทำงานอะไร แต่ณัฐวุฒิยืนยันว่าจริงๆ แล้วทุกคนต่างดิ้นรนชีวิตเพื่อความอยู่รอด และมีงานทำไม่ต่างกับคนทั่วไปแบบเราๆ
"แต่งานที่เขาทำมันไม่ได้ทำให้เขามีรายได้ประจำที่มั่นคง อย่างเช่น งานรับจ้าง บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้เลย ถ้าเป็นคนที่ลุกขึ้นมาได้หน่อย หรือคนที่ เป็นแกนนำแล้ว เขาอาจมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่เชื่อไหมมันก็ยังไม่มากพอสำหรับ การดำรงชีวิตอยู่ดี"
ณัฐวุฒิ เล่าต่อถึงกรณี "พี่แมกซ์" ชายที่ถูกสังคมตีตราว่าไร้บ้าน แต่กิจวัตรประจำวัน ของเขาคือการตื่นตีสามตระเวนเข็นรถขายของทั่วขอนแก่น แต่รายได้ที่ได้รับก็ยังไม่พอ สำหรับการใช้ชีวิตแบบคนอื่นทั่วไป
"ถึงจะทำค้าขายขนาดนี้ แกก็ยังมีรายได้แค่พอจะเช่าบ้านได้เดือนละ 300 บาทเท่านั้น สิ่งนี้มันสะท้อนเลยว่า พวกเขาไม่ได้ไม่ขยันนะ แต่ช่องทางทำมาหากินมันไม่ได้เอื้อมาถึงพวกเขา"
อีกปัญหาสำคัญที่คนไร้บ้านส่วนใหญ่ต้องเผชิญ คือปัญหาเรื่องคือสิทธิ์และสวัสดิการต่างๆ ที่ควรได้รับในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล ที่วันนี้คนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหา "คนไร้สิทธิ์" เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันความเป็นคนไทยเหมือนคนอื่นๆ เช่น ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ต้องสุดท้ายเขาต้องพึ่งพาระบบสังคมสงเคราะห์ที่อาจไม่ได้ให้การต้อนรับพวกเขามากนัก
"ป้าหยก" คนไร้บ้านจากเมืองหลวง ซึ่งถือโอกาสมาเยี่ยมเยียนพี่น้องคนไร้บ้านชาวขอนแก่น ดูจะมีประสบการณ์เรื่องนี้ไม่น้อย ป้าหยกระบายความเจ็บช้ำที่ฝังลึกในใจ กับความรู้สึกที่ต้องเผชิญ เมื่อเวลาที่คนไร้บ้าน และไร้บัตรอย่างเธอต้องเดินไปขอรับการบริการจากหน่วยงานภาครัฐทุกครั้ง
"บางครั้งเราแทบไม่อยากไปเลยนะ เพราะต้องไปทีไรก็เจอเขาดูถูก ดุด่าว่าเราต่างๆ นานา แต่ทำไงได้ ป้ามีโรครุม เจ็บป่วย ปวดท้องก็ต้องยอมทน เราอยากได้บัตรนะ แต่เราโดนพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่เกิด เลยไม่มีบัตรประชาชนจนทุกวันนี้ จะตรวจดีเอ็นเอก็ต้องใช้เงิน ซึ่งเราไม่มี"
ณัฐวุฒิ เสริมว่า บางคนที่เคยทำบัตรมาก่อนอาจไม่ยาก เพราะจากการทำงานทำให้มีเครือข่ายเทศบาลที่ให้ความร่วมมือช่วยจัดการ แต่ปัญหาในกลุ่มที่ไม่เคยมีบัตรมาก่อนเลย หรือบัตรหาย แล้วเร่ร่อนมานาน จนชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนกลาง ที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบสิทธิ์ด้วยผลดีเอ็นเอ เพื่อใช้เงินพิสูจน์สถานภาพ ทำให้พบว่ากระบวนการจะติดค้างอยู่ตรงจุดนี้ โดยส่วนใหญ่
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือปัญหาคนไร้บ้านส่วนใหญ่ มีต้นเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม
"คนไร้บ้านมีทั้งคนป่วย คนไม่มีสิทธิ์ และคนไม่มีที่อยู่ คำว่าคนไร้บ้านเป็นแค่สัญลักษณ์ ว่าเขาไร้บ้าน แต่ความจริงเขาไร้เกือบทุกอย่างที่คนเราที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พึงมี"
ขอนแก่น เป็น 1 ใน 3 จังหวัด พื้นที่นำร่องการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ที่นำไปสู่การบูรณาการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่
สำหรับขอนแก่น มีความแตกต่างจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ คือการพยายามหนุนเสริมการทำงานกับภาครัฐ จนภาครัฐ เห็นความสำคัญนำไปสู่การมีนโยบายสาธารณะร่วมกับขับเคลื่อนทั้งมิติสุขภาพ สิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ ทั้งในเชิงข้อมูล เชิงประชากร และโมเดลการดูแลฟื้นฟูและเสริมศักยภาพคนไร้บ้านทั้งทางด้านสุขภาพ และอาชีพที่ต้องมีความเหมาะสมกับระยะของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน
ซึ่งวันนี้ บนพื้นที่ 3 ไร่ของศูนย์ประสานงาน กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ที่ภาคี คนทำงานต่างตั้งใจปลุกปั้นให้เป็นทั้งที่ พักพิงอยู่อาศัย พื้นที่พัฒนาอาชีพ ทำการเกษตร และสร้างตลาดเพื่อค้าขาย ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทั้งด้านรายได้ ความเป็นอยู่ให้กับคนไร้บ้านยั่งยืน
ที่ผ่านมาภาพรวมการดำเนินโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพเพื่อ ผู้ด้อยโอกาส: คนไร้บ้าน และคนพิการในเขตสุขภาพที่ 7 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และขอนแก่น มีการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557 เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวางกรอบยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน และเสริมศักยภาพคนทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านโดยเชื่อมให้เห็นปัญหา จากนั้นพัฒนาจุดเชื่อมร้อยการทำงาน (node) และหนุนเสริมให้เกิดเครือข่าย (network) ในการขับเคลื่อนงาน รวมไปถึงการพัฒนาระบบข้อมูลคนไร้บ้าน
แม้วันนี้สถิติจากการสำรวจจะพบว่า "ขอนแก่น" มีคนไร้บ้านเพียง 136 คน ซึ่งหากเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอย่างเช่นกรุงเทพมหานครแล้ว อาจดูน้อยกว่ามากนัก แต่ไม่อาจรับรองได้ว่า วันข้างหน้าสถิติจะวิ่งขึ้นไปเท่าใด เพราะปัจจุบัน "ความเป็นเมือง" กำลังถูกแทนที่สังคมเกษตรกรรมในประเทศไทยมากกว่า 60% ของประเทศแล้ว
"ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ สังคมเกษตรเริ่มหดตัวเรื่อยๆ ตามแบบอย่างของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ปัญหาคนไร้บ้านในบ้านเรา วันนี้อาจพบว่าเป็นปัญหาน้อยอยู่ ด้วยประเทศไทยมีฐานสังคมแบบเกษตรกรรม ที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันและเราผลิตอาหารได้เอง แต่ในสังคมที่คำนึงถึงแต่ระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก แน่นอนว่า "คนที่พ่ายแพ้" ก็อาจจะกลายเป็นคนไร้บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ" ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว พร้อมทั้งยังเผยสถิติและสถานการณ์คนไร้บ้านในไทยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อว่า คนไร้บ้านในประเทศไทย มีอายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยโดยรวมค่อนข้างมาก สาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านส่วนใหญ่มาจากโรคติดเชื้อ เช่น กลุ่มโรคติดเชื้อในกระแสเลือดในปอด ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งและหัวใจ สะท้อนให้เห็นว่าการอาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ และหากอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะเป็นเวลานานจะพบปัญหาสุขภาพจิตที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นตามไปด้วย
"ก่อนมาสู่จุดนี้เขาพ่ายแพ้ชีวิต จึงมีความเจ็บป่วยทั้งทางกายและจิตใจชัดมาก อายุขัยเฉลี่ยคนไร้บ้านจึงต่ำกว่าคนทั่วไป เพราะเขาต้องเผชิญกับรอบด้าน มีการศึกษา ดูในเรื่องนี้มากว่ายี่สิบปี แต่กลุ่มนี้ยังไม่ถูกมองเป็นปัญหาโดยรวมสังคมไทย แต่แนวโน้มที่กำลังมากขึ้น ดังนั้นสังคมไทยจะอยู่อย่างไร ควรศึกษาแนวทางประเทศที่เจริญแล้วที่มีปัญหา หรือจะหาโมเดลแบบไทยสร้างมาตรการใหม่ๆ ทั้งการป้องกันและรองรับในอนาคต"
สำหรับโมเดลของ สสส. คือ Balloon Model ที่จะดูแลตั้งแต่การพัฒนาข้อจำกัดต่างๆ สร้างศักยภาพให้คนไร้บ้านแข็งแรงขึ้น สิ่งที่เรียนรู้จากปัญหาที่เราเยียวยาได้ ในระยะยาวต้องสามารถกลับไปป้องกันคนไม่ให้เข้าสู่วงจรนี้ โดยจะเป็นการทำงานเชิงระบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สสส. ทำหน้าที่เป็น "ตัวกลาง" เชื่อมโยงหน่วยงานที่รับผิดชอบ เน้นการป้องกันการเกิดคนไร้บ้าน การพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อลดจำนวนคนไร้บ้าน และส่งกลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี และการหนุนเสริมเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นคนไร้บ้านซ้ำ
สสส.จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนารูปแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านและผลักดันเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการเข้ารับบริการทางสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนไร้บ้าน
"เริ่มต้นจากมีหลายวาทกรรมที่เราต้อง แย่งชิง ในการพูดถึงคนไร้บ้าน คนส่วนใหญ่ มักมีตีตราด้วยคำว่า "คนจรจัด" "คนเร่ร่อน" หรือ "คนป่วย" เหล่านี้สะท้อนถึงสิ่งที่สังคมนิยามและมองภาพคนไร้บ้าน ซึ่งเราต้องพยายามเปลี่ยนคำพูดที่สื่อถึงพวกเขาด้วยความเป็นกลาง และเปลี่ยนค่านิยมคนในสังคมที่มีต่อคนไร้บ้าน เป็นบทเรียนที่เราเห็นชัดเจนว่ามิติสังคมและวัฒนธรรมเป็นจุดที่เราต้องเริ่มต้นทำงานด้วย"
ผู้จัดการ สสส. กล่าวต่อว่า ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายสำคัญของ สสส.และเครือข่าย ไม่ได้หวังว่าจะดูแลเขาไปเรื่อยๆ เพราะความยั่งยืนที่แท้จริง คือการคืนเขาสู่สังคม
"ถ้าเขาเป็นคนแพ้ ต้องเป็นคนแพ้ที่ลุกขึ้นมาและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีศักยภาพ" ดร.สุปรีดากล่าว
เสริมทิ้งท้ายด้วยคนทำงานในพื้นที่อย่าง ณัฐวุฒิ ว่า "จริงๆ แล้วการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการกลับไปดูครอบครัวเราเอง ว่ามีการพูดคุยกันเยอะแค่ไหน ส่วนคนที่เป็นแล้วเราควรมีระบบรองรับยังไง เพราะคนที่เพิ่งออกมาเป็นคนไร้บ้านไม่นานเขามีสิทธิที่จะฟื้นตัวได้เร็ว แต่หากคนที่อยู่มานานแล้ว หรือติดแอลกอฮอล์เราต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูจิตใจนาน"